พระมหากษัตริย์นักกีฬา
พระมหากษัตริย์นักกีฬา
“...การกีฬานั้นย่อมเป็นการทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า เป็นปัจจัยในการบริหารร่างกายให้แข็งแรง และฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องแผ้วร่าเริง รู้จักแพ้และชนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบกันมีการให้อภัยซึ่งกันและกัน สามัคคีกลมเกลียวกัน อย่างที่เรียกกันว่ามีน้ำใจเป็นนักกีฬา รวมความว่า ผลของการกีฬา คือ ผลทางร่างกายและทางจิตใจ...”
พระบรมราโชวาท ในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ๒๔๙๘ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติกรมพลศึกษา วันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘
ทุกครั้งที่จะทรงกีฬา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงปฏิบัติพระองค์อย่างถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อประโยชน์ต่อชีวิตและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการจดบันทึกชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลัง ทรงออกกำลังพระวรกายอย่างสม่ำเสมอและทรงศึกษาเรื่องขั้นตอนของการออกกำลังกายอย่างจริงจัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองเหรียญทองร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในทวีปเอเชียที่สามารถครองรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในวงการกีฬาเรือใบระดับโลก
แบดมินตันเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานมากเช่นกัน และโปรดให้มีการปรับแต่งหอประชุมภายในศาลาผกาภิรมย์ สวนจิตรลดาให้เป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน ซึ่งพระองค์มักจะทรงแบดมินตันในตอนเย็นวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ ทั้งยังทรงรับสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ อีกด้วย นับจากนั้นวงการแบดมินตันของไทยจึงได้ก้าวไกลสู่ระดับสากลด้วยความที่ทรงตระหนักถึงแก่นแท้ของการกีฬาว่าเป็นหัวใจสำคัญในการเสริมสร้างสุขอนามัยให้แข็งแรงซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาสมองให้เกิดความคิดที่กว้างไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ในการสนับสนุนให้พสกนิกรชาวไทยเกิดความสนใจในการกีฬายิ่งขึ้น ด้วยจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ ดังพระบรมราโชวาทในพิธีเปิดการแข่งขันกรีฑาประจำปี ๒๕๐๗ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ กรมพลศึกษา วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ ความตอนหนึ่งว่า
"...การกีฬานั้น นอกจากจะให้ความสนุกสนานและความสมบูรณ์แก่ร่างกายแล้ว ยังให้ผลดีทางจิตใจได้อย่างมากมาย นักกีฬาที่ได้รับการฝึกหัดอบรมอย่างดีแล้ว ย่อมมีใจแน่วแน่ตัดสินใจได้รวดเร็ว มีความเพียรพยายามไม่ท้อถอย และมีความหนักแน่น รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักให้อภัย ผู้มีใจเป็นนักกีฬา จึงเป็นผู้ที่มีประโยชน์ต่อสังคมและน่าคบหาสมาคมด้วยอย่างยิ่ง..."
"...แต่ในคราวนี้โดยที่เป็นผู้แทนของประเทศไทยและไปในต่างประเทศ ก็ย่อมมีหน้าที่และต้องมีการปฏิบัติ เพิ่มเติมอีกก็คือเวลาปฏิบัติกีฬาก็จะต้องปฏิบัติตนเป็นนักกีฬาที่แท้ เพื่อแสดงว่าประเทศไทยมีนักกีฬาที่มีน้ำใจดีไม่ใช่พาล ถ้าชนะก็อย่าทะนงตัว ถ้าแพ้ก็อย่าท้อใจ ในการ ปฏิบัติกีฬานั้น การแสดงออกมาซึ่งกิริยาหรือท่าทางก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด..."
เหรียญสดุดีพระเกียรติยศด้านการกีฬาที่องค์กรต่างประเทศทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
- เหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิก “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด (ทอง)”(First Class Order of Olympic(Gold)) - ในฐานะที่ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนกีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัดและนับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูงสุด
- อิสริยาภรณ์สูงสุดทางการกีฬาของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย(OCA Merit Award) - ในฐานะที่ทรงเป็นนักกีฬายอดเยี่ยม และทรงให้การสนับสนุนส่งเสริมการกีฬาของเอเชียและของโลกอย่างต่อเนื่อง
- ถ้วยลาลาอูนิส (Lalaounis Cup) - เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณด้านการกีฬาและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการกีฬาของไทยและระหว่างประเทศ
- เหรียญสดุดีพระเกียรติคุณ“โกลเด้น ชายนิง ซิมโบลออฟ เวิลด์ ลีดเดอร์ชิพ”(Golden Shining Symbolof World Leadership) - ในฐานะที่ทรงสนับสนุนการกีฬาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬามวย
ส่งผลให้ระบบการกีฬาของประเทศไทยเติบโตขึ้นงอกงามยิ่งขึ้น ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในฐานะที่ไทย "เป็นหนึ่ง" ในผู้นำด้านการกีฬาบนเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น เทควันโด ตะกร้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "มวยไทย" จนก่อเกิด "มิตร" และ "ไมตรี" จากประเทศทั่วโลกและก้าวไปสู่อารยะด้านเกมกีฬาอย่างสมภาคภูมิ
ดูเพิ่มเติม | ทรงชนะเลิศการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง |
---|