04.ลำดับการศึกษา-หญ้าแฝกดอยตุง

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:12, 3 กันยายน 2551 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
สารบัญ

ลำดับการศึกษาและดำเนินงานขยายพันธุ์หญ้าแฝกในพื้นที่โครงการฯ


วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2535 ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนำเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง(พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฟังการบรรยายทางวิชาการเรื่องหญ้าแฝก โดย ดร.พี.เค.ยูน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกจากสถาบันวิจัยยางแห่งประเทศมาเลเซีย ให้ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าแฝก ซึ่งยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่


วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่สำนักงานประสานงานโครงการฯ ไปดูแหล่งหญ้าแฝกที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ข้อมูลแหล่งหญ้าแฝกนี้รายงานโดยสถานีทดลองข้าวพิมาย ที่สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร


วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่จากสถานีทดลองยางขุนทะเล (จ.สุราษฎร์ธานี) สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร นำพันธุ์หญ้าแฝกที่ปลูกไว้ในสถานีแห่งนั้น จำนวน 1,000 ต้นมาส่งให้เป็นครั้งที่ 1


วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่จากสถานีทดลองข้าวพิมายนำหญ้าแฝกจากแหล่งธรรมชาติ อ.พิมาย จำนวน 1 คันรถ 6 ล้อ เสริมข้างมาส่งให้ที่โครงการฯ เป็นครั้งแรก


วันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่ปลูกหญ้าแฝกที่ส่งมาจากทั้ง 2 แหล่ง โดยชำลงในถุงพลาสติกดำบรรจุดินได้จำนวน 36,418 ถุง จำแนกเป็นหญ้าแฝกพิมาย 30,050 ถุงๆ ละ 4 ต้นหญ้า แฝกจากบ้านขุนทะเล 6,368 ถุงๆ ละ 2 ต้น ทั้งนี้เนื่องจากกอหญ้าแฝกขุนทะเลมีความสมบูรณ์กว่าหญ้าแฝกพิมาย


วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ. เภา สารสิน รองนายกรัฐมนตรี นายมีชัย วีระไวทยะ รัฐมนตรีประจำนำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มาเยี่ยมชมแปลงหญ้าแฝก และฟังการบรรยายสรุปงานหญ้าแฝกที่แปลงขยายพันธุ์พืชที่ 52 ไร่ ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย ปัจจุบันเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาหญ้าแฝก

หญ้าแฝก-15.jpg หญ้าแฝก-16.jpg

นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.เภา สารสิน รองนายกรัฐมนตรี
และนายมีชัย วีระไวทยะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ดูงานหญ้าแฝกที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาหญ้าแฝกบ้านห้วยไคร้

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่สถานีทดลองยางขุนทะเล จ.สุราษฎร์ธานี ได้นำหญ้าแฝกซึ่งปลูกที่สถานีฯ มาส่งให้อีกจำนวน 10,000 ต้น เป็นครั้งที่ 2


วันที่ 16-17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เจ้าหน้าที่ได้ปักชำหญ้าแฝกจากสุราษฎร์ธานีลงถุงได้อีกจำนวน 6,566 ถุง


วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 โครงการชลประทานทุ่งสัมฤทธิ์ จ.นครราชสีมา ร่วมกับสถานีทดลองข้าวพิมายนำหญ้าแฝกแหล่งธรรมชาติพิมาย มาส่งให้โครงการอีก 1 คันรถ 6 ล้อเสริมข้างเป็นครั้งที่ 2


วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 นำหญ้าแฝกจากพิมายมาชำไว้ในแปลงแกลบดำผสมทรายและมีการพรางแสง เนื่องจากหญ้าแฝกที่นำมาจาก อ.พิมาย อยู่ในสภาพทรุดโทรมมากเพราะขุดนำมาในระยะที่ดินขาดความชื้น ประกอบกับสภาพของการขนส่งที่ขนมาจากระยะทางไกลมากและมีจำนวนมากกองทับกันในการขนส่งแต่ละเที่ยว ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวขาดฝนจึงได้ต่อท่อระยะ 12.5 กม. นำน้ำจากส่วนป่าดอยตุงมาใช้ที่แปลง


วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 โครงการชลประทานทุ่งสัมฤทธิ์ และสถานีทดลองข้าวพิมายได้ขนหญ้าแฝกจากแหล่งธรรมชาติพิมายมาเพิ่มให้อีก 1 คันรถ 6 ล้อเสริมข้าง เป็นครั้งที่ 3 เจ้าหน้าที่และคนงานของโครงการได้นำหญ้าแฝกรุ่นที่ 3 ซึ่งตัดแต่งใบให้ยาว 30 ซม. และรากยาว 10 ซม. ลงแช่น้ำผสมสารเร่งการงอกของราก ก่อนนำลงปักชำในแปลงแกลบผสมดิน


วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2535 สถานีทดลองข้าวพิมายได้ขนหญ้าแฝกจากแหล่งธรรมชาติ อ.พิมาย มาให้อีก 1 คันรถ 6 ล้อเสริมข้าง เป็นครั้งที่ 4


วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2535 ได้ทำการตรวจสอบจำนวนกล้าหญ้าแฝกจากขุนทะเล จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับมา 2 ครั้ง ซึ่งเริ่มเจริญเติบโตได้ 12,500 ถุง (สูญเสียไป 3.35%) จากแหล่งพิมาย 9,500 ถุง (สูญเสียไป 68.38%) จะเห็นได้ว่าหญ้าแฝกที่ปลูกและมีการดูแลรักษา เช่น จากแหล่งขุนทะเล เมื่อย้ายปลูกเพื่อขยายพันธุ์จะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและสูญเสียต่ำ ต่างกับหญ้าแฝกจากแหล่งธรรมชาติ มีการเจริญเติบโตช้ากว่าและมีอัตราสูญเสียสูงกว่าหญ้าแฝกที่ปลูกและได้รับการดูแล


วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2535 โครงการชลประทานเจ้าเจ็ด บางยี่หน จ.อยุธยา ได้นำหญ้าแฝกจำนวน 2,343 ถุง มาส่งให้โครงการฯ จากการตรวจสอบปรากฏว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับหญ้าแฝก จ.สุราษฎร์ธานี สันนิษฐานว่าเป็นพันธุ์เดียวกัน

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2535 โครงการพัฒนาป่าไม้เข้าค้อ จ.เพชรบูรณ์ ส่งหญ้าแฝกจำนวน 350 ต้นมาให้โครงการฯ เป็นหญ้าแฝกที่สำนักงาน กปร. สั่งซื้อมาจาก บริษัท อินโดอเมริกัน ไฮบริดซีดส์ แห่งเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย หญ้าแฝกชุดนี้เป็น Vetiveria zizaniodides ชนิดรากหอม เข้าใจว่าเป็นพันธุ์เดียวกับหญ้าแฝกแหล่งสุราษฎร์ธานี จึงได้ปลูกขยายพันธุ์ไว้ที่แปลงเพื่อศึกษาต่อไป


วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2535 เริ่มมีการนำหญ้าแฝกจากแหล่งธรรมชาติบ้านแม่ข้าวต้ม อ.เมือง จ.เชียงราย เข้ามาขยายพันธุ์ที่แปลงห้วยไคร้จำนวน 2 คันรถ 6 ล้อ หลังจากนั้นมีการทยอยนำหญ้าแฝกจากแหล่งอื่นๆ มาปลูกขยายพันธุ์อีกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ แหล่งหนองหลวง อ.เวียงชัย แหล่งบ้านแม่ลาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แหล่ง ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา เพื่อให้มีหญ้าแฝกเพียงพอสำหรับปลูกสองฝากถนนด้านดินตัดและดินถม

ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2535 ได้ตรวจสอบนับจำนวนหญ้าแฝกที่ขยายพันธุ์ไว้ที่แปลงขยายพันธุ์ ต.ห้วยไคร้ พบว่าหญ้าแฝกที่อยู่ในสภาพเจริญงอกงามมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็นหญ้าแฝกจากแหล่งสุราษฎร์ธานี 50,000 ถุง แหล่งธรรมชาติพิมาย 15,000 ถุง แหล่งบ้านแม่ข้าวต้ม 39,690 ถุง แหล่งเวียงชัย 64,330 ถุง และแหล่งพะเยา 81,900 ถุง หญ้าแฝกจากทุกแหล่งนอกจากแหล่งพิมายเป็น Vetiveria zizanioides และสันนิษฐานว่าเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับสายพันธุ์จากแหล่งสุราษฎร์ธานี ส่วนจากแหล่งพิมายเป็น V. nemoralis


วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2535 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ ไปทรงปักชำหน่อหญ้าแฝกที่แปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก ต.ห้วยไคร้ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อโครงการศึกษาพัฒนาหญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริในโครงการพัฒนาดอยตุง ในวันเดียวกันนั้นได้ทรงปลูกหญ้าแฝกเหนือรางระบายน้ำขอบถนนด้านดินตัดของถนนสายบ้านสันกอง-พระธาตุดอยตุง ที่ กม.18 อีกด้วย


วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงนำเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทอดพระเนตรหญ้าแฝกอายุ 9 เดือน ที่มีรากยาวถึง 3.7 เมตร และได้พระราชทานหญ้าแฝกกอนั้นแก่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงนำไปทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ นอกจากนั้นยังนำเสด็จฯ ทอดพระเนตรการปลูกหญ้าแฝกกันดินทลายที่บริเวณ กม.12 และ 18 ของเส้นทางสายบ้านสันกอง-พระธาตุดอยตุง


วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงนำเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถไปทรงปักชำกล้าหญ้าแฝก ณ แปลงขยายพันธุ์หญ้าแฝก ต.ห้วยไคร้


วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2536 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานหญ้าแฝกเพื่อให้สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทปลูกกันดินพังทลายบริเวณอ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว บ้านฮ่างใต้ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ในการนี้ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ฯพณฯ นายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ฯพณฯ นายไสว พัฒโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทำการปลูกหญ้าแฝกพระราชทานด้วย

หญ้าแฝก-17.jpg

นายคำรณ บุญเชิด ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อัญเชิญหญ้าแฝกพระราชทานไปมอบให้นายกรัฐมนตรีปลูกเพื่อป้องกันดินขอบอ่างพังทลาย

หญ้าแฝก-18.jpg

อ่างเก็บน้ำบ้านแม่ฉางข้าว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย