ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประวัติความเป็นมา - วัตถุประสงค์

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ นับเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ แห่งแรก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 อีกทั้งเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาตามแนวเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) แห่งหนึ่ง มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน 1,895 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฯ จำนวน 1,240 ไร่ และพื้นที่โครงการส่วนพระองค์เขาหินซ้อนฯ จำนวน 655 ไร่ ดำเนินการพัฒนาทางด้านการเกษตรอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเน้นการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของดินและน้ำให้มีความสมบูรณ์ เนื่องจากสภาพพื้นที่แห่งนี้มีการตัดไม้ แล้วปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ทำให้ดินจืด และเสื่อมคุณภาพจนกลายเป็นดินทราย ในฤดูแล้วจะมีการชะล้าง เนื่องจากลมพัด (Wind erosion) ในฤดูฝนจะมีการชะล้างเนื่องจากน้ำเซาะ (Water erosion) ทำให้หน้าดินถูกทำลายไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการฟื้นฟูสภาพของดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยใช้วิชาการในหลายๆ ด้าน ประกอบกันเป็นการดำเนินการแก้ไขในลักษณะผสมผสานของหลายๆ หน่วยงานแบบบูรณาการ โดยดำเนินการพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด และการปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชแซม การป้องกันศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ การศึกษาความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์ที่ดินในการปลูกไม้ผล การฟื้นฟูสภาพป่า การบำรุงพันธุ์ไม้เดิม ไม้มีค่าหายาก และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ การจัดทำสวนสมุนไพร การรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าหายากในภาคตะวันออก การสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง การสาธิตการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงาม ซึ่งราษฎรสามารถนำไปประกอบอาชีพเป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากการทำการเกษตร รวมทั้งแนะนำส่งเสริมระบบสหกรณ์ให้แก่เกษตรกร การให้บริการสีข้าว ฝึกอบรมการแปรรูปผลผลิตเพื่อจำหน่าย อันจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงสมบูรณ์ต่อไป


การดำเนินงานภายในศูนย์

ในการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาแห่งนี้ มีลักษณะการดำเนินงานแบบผสมผสาน มีหน่วยงานต่างๆรวมกันดำเนินงานในพื้นที่ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป่าไม้ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมชลประทาน กรมพัฒนาชุมชน กรมโยธาธิการ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา และมีหน่วยงานนอกศูนย์ฯ ตลอดจนภาคเอกชน สนับสนุนการดำเนินการอีกมาก โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักประสานการดำเนินการ และบริหารงานโดยคณะกรรมการ คณะทำงานต่างๆ ทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ


พื้นที่ดำเนินงาน

๑. พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ ประมาณ 1,250 ไร่

๒. โครงการส่วนพระองค์เขาหินซ้อนฯ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ 655 ไร่

๓. หมู่บ้านรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ พื้นที่ลุ่มน้ำโจน จำนวน 15 หมู่บ้านในเขตตำบลเขาหินซ้อน และตำบลเกาะขนุน มีเนื้อที่ประมาณ 113,214 ไร่

๔. พื้นที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย บริเวณตำบลบ้านซ่องและตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสาร คาม มีเนื้อที่ 33 ไร่

๕. โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณเขาชะโงก จังหวัดนครนายก มีเนื้อที่ประมาณ 23,157 ไร่


หน่วยงานที่รับผิดชอบ

กิจกรรมภายในศูนย์
  • กรมชลประทาน
  • กรมวิชาการเกษตร
  • กรมที่ดิน
  • กรมป่าไม้
  • กรมส่งเสริมการเกษตร
  • กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • กรมประมง
  • ตำรวจตระเวนชายแดน
  • กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
  • กรมปศุสัตว์
  • กระทรวงสาธารณสุข
  • จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • กรมพัฒนาที่ดิน
  • กรมการพัฒนาชุมชน
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ที่ตั้ง-ติดต่อ

แผนที่เดินทางไปเขาหินซ้อน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ ณ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 100กิโลเมตร ทางทิศตะวันออก อยู่บนฝั่งขวาของถนนฉะเชิงเทรา -กบินทร์บุรี ตามทางหลวงแผ่นดินสาย304 ห่างจากที่ว่าการอำเภอพนมสารคาม ประมาณ 15 กิโลเมตร

โทรศัพท์ 0-3859-9105-6 โทรสาร 0-3859-9117