ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

พระราชดำริ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เริ่มก่อตั้งตามพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดยมีพระราชดำริแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี "ให้พิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมจัดทำโครงการพัฒนาด้านอาชีพการประมง และการเกษตรในเขตพื้นที่ดินชายฝั่งทะเลจันทบุรี" และได้พระราชทานเงินที่ราษฎรจังหวัดจันทบุรีได้ร่วมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสดังกล่าว เป็นทุนริเริ่มดำเนินการ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเพิ่มเติม ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สาระโดยสรุปว่า "ให้พิจารณาจัดหาพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือพื้นที่สาธารณประโยชน์เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา เช่นเดียว กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ให้เป็นศูนย์ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล"

จังหวัดจันทบุรีได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและพิจารณาความเหมาะสม จึงกำหนดพื้นที่ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ศูนย์ศึกษาดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษา สาธิตและการพัฒนาในเขตที่ดินชายทะเล โดยวิธีการผสมผสานความรู้อันหลากหลายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อวางแผนพัฒนาการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม และยั่งยืนตลอดไป

และเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑ ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำผู้เข้าร่วมสัมมนาและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงต่อไป ณ ศาลาดุสิดาลัย สาระโดยสรุป คุ้งกระเบนเป็นการศึกษาเกี่ยวกับชายทะเล ต้นไม้ต่าง ๆ ชายทะเล และปลา การประมง


ที่ตั้งโครงการ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอ่าวไทย) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ อำเภอท่าใหม่ ตำบลคลองขุด คือ หมู่บ้านเนินประดู่ หมู่บ้านหมูดุด หมู่บ้านจ้าวหลาว หมู่บ้านจ้าวหลาว (หัวแหลม) หมู่บ้านคุ้งกระเบน หมู่บ้านคลองขุด (บน) หมู่บ้านคลองขุด และหมู่บ้านหนองหงส์ และกิ่งอำเภอนายายอาม คือ ตำบลสนามไชย คือ หมู่บ้านหนองโพรง หมู่บ้านคลองบอน หมู่บ้านปากตะโปน หมู่บ้านสนามไชย หมู่บ้านสองพี่น้อง หมู่บ้านนาซา หมู่บ้านอัมพวาและหมู่บ้านท่าแคลง


พื้นที่ดำเนินการ

สภาพในศูนย์
พื้นที่ดำเนินการและพื้นที่ขยายผลศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ครอบคลุม ๓๓ หมู่บ้าน ในตำบลคลองขุด, ตำบลรำพัน, ตำบลโขมง อำเภอท่าใหม่ และ ตำบลสนามไชย, ตำบลกระแจะ อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๗๑,๐๒๕ ไร่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

๑. พื้นที่ศูนย์กลาง ได้แก่ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ การดำเนินกิจกรรมจะเป็นการผสมผสานระหว่างป่าไม้และประมง

๒. พื้นที่รอบนอก

ได้แก่พื้นที่ตำบลคลองขุด ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ และตำบลสนามไชย ตำบล กระแจะ อำเภอนายายอาม ซึ่งเป็นทั้งเขตเกษตรกรรม และเขตหมู่บ้านประมงตลอดแนวชายฝั่ง มีพื้นที่ประมาณ ๕๗,๐๒๕ ไร่ การดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการ

๓. พื้นที่ขยายผล

ได้แก่ พื้นที่ ตำบลรำพัน ตำบลโขมง ตำบลเสม็ดโพธิ์ศรี อำเภอท่าใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ไร่ เป็นการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ในศูนย์ฯ สู่พื้นที่โดยรอบ


หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ในการปฏิบัติงานบริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จะเป็นทั้งรูปแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการส่งเสริมพัฒนาอาชีพของราษฎรตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการที่หน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานใดจะเป็นทั้ง “ นักอนุรักษ์และนักพัฒนา” ในคราวเดียวกันนั้นย่อมยากต่อการประสบความสำเร็จอีกทั้งการจัดการทรัพยากรมักจะมีข้อขัดแย้งมากมายระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์ป่าชายเลนกับการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งทะเล เนื่องจากการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นรูปแบบ “ สหวิทยาการ (INTERDISCIPINARY)” มิใช่การจัดการแบบเบ็ดเสร็จ การที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์นั้นจะต้องมีหน่วยงานที่หลากหลายเข้าร่วมโครงการเพื่อการประสานแผน (INTEGRATED PLANNING) การดำเนินงานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการประกอบด้วยหน่วยงานในระดับพื้นที่ จำนวน ๓๖ หน่วยงาน จาก ๒๒ กรม/สำนัก ใน ๗ กระทรวง โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานกระทรวงหลักในการพัฒนา


วัตถุประสงค์ของศูนย์

๑. เพื่อศึกษารูปแบบการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน

๒. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ให้แก่ส่วนราชการและภาคเอกชนทั่วไป

๓. เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ อาชีพของราษฎรบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบน และ พื้นที่ใกล้เคียง โดยมุ่งเน้นพัฒนาช่วยเหลือราษฎรที่มีฐานะยากจน

๔. เพื่อพัฒนาด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของประเทศ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านการประมง ตลอดจนพัฒนากิจกรรม ทางด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

๕. เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมและดุลยภาพทางธรรมชาติให้คงลักษณะพิเศษของพื้นที่เอาไว้


การดำเนินงานภายในศูนย์

การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีลักษณะ "สหวิทยาการ" (INTERDISCIPINARY) โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อสร้างรายได้และใช้ทรัพยากรท้องถิ่นหลายกิจกรรม ครอบคลุมถึงการรักษาสภาพป่าโดยการส่งเสริมการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ การเลี้ยงปลา และหอย เพื่อเผยแพร่แก่เกษตรกร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงกุ้ง เพื่อที่จะยกระดับฐานะความเป็นอยู่ อาชีพของราษฎรบริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบน และพื้นที่ใกล้เคียงโดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการประมง และการเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของประเทศ และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านการประมง ตลอดจนพัฒนากิจกรรมทางด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ อยู่ภายใต้แผนแม่บทที่หน่วยงาน ต่างๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ประกอบ

ส่วนที่ ๑ งานบริหารและจัดการ

ดำเนินการบริหารและจัดการ ประสานงานหน่วยงานต่างๆ และบริการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงาน เพื่อให้ดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งร่วมประสานแผนศึกษาพัฒนาและงบประมาณดำเนินการ ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมรายงานผลการดำเนินงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


ส่วนที่ ๒ งานการศึกษา ทดลอง และวิจัย

ศึกษาทดลองวิจัย และพัฒนาการประมงชายฝั่งพื้นบ้านอย่างถูกวิธี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้มาตรฐานและอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำของประเทศและได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าควบคู่กับการศึกษาวิจัยการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมทั้งการวิจัยด้านต่างๆ ดังนี้

- ด้านการพัฒนาเกษตรกรรม (พืช)

- ด้านการพัฒนาประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

- ด้านการพัฒนาป่าไม้

- ด้านการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน

- ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ


ส่วนที่ ๓ งานบริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี

พัฒนาศักยภาพการถ่ายทอดเทคโนโลยี กระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบจัดทำเครือข่ายประสานข้อมูลสารสนเทศของศูนย์ศึกษาฯ ทุกกิจกรรม เพื่อกระจายองค์ความรู้ และข่าวสารสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวางประสานแผนงานถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างบูรณาการ โดยยึดพื้นที่ภารกิจและมีส่วนร่วมทุกระดับ รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกที่ดี รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ประกอบด้วย

- งานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

- งานส่งเสริมพัฒนาและฝึกอบรมด้านการประมง ป่าไม้ ดิน เกษตร ปศุสัตว์

- งานพัฒนาและศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนและป่าบก

- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน

- งานฝึกอบรมและศึกษาสาธารณสุข

- งานฝึกอบรมเตรียมองค์กรประชาชน


ส่วนที่ ๔ งานขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนา'

การดำเนินงานในด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการพัฒนาอาชีพ ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ดิน น้ำ ป่าไม้ ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 201,108 บาท/ครัวเรือน/ปี เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วครัวเรือนมีรายได้สุทธิเฉลี่ย 92,638.50 บาท/ครัวเรือน/ปี

- งานส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

- งานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร

- งานส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- งานพัฒนาแหล่งน้ำ

- ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม


ส่วนที่ ๕ งานท่องเที่ยวเชิงพัฒนา

จากการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพราษฎรของศูนย์ฯ คุ้งกระเบน ได้พัฒนาการดำเนินการสู่การท่องเที่ยว เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเพลิดเพลินแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับศักยภาพเชิงวัฒนธรรม วิถีชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่อย่างบูรณาการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเป็น “การท่องเที่ยวเชิงพัฒนา” ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ศึกษาดูงานจะได้รับความรู้ในแขนงต่างๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติหรือประกอบอาชีพได้ ตลอดจนได้รับความเพลิดเพลินในระหว่างท่องเที่ยวด้วย

โดยมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 180,000 ราย/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ราษฎรในพื้นที่โครงการ

และจากการดำเนินการท่องเที่ยวเชิงพัฒนาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ซึ่งเป็นที่แพร่หลายและมีความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวสูงมาก ทำให้ศูนย์ฯ คุ้งกระเบน ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ครั้งที่ 3 “ กินรีทอง” ประจำปี พ.ศ.2543 และรางวัลดีเด่น ครั้งที่ 4 “ กินรีเงิน” ประจำปี พ.ศ.2545 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


ประโยชน์ที่ได้รับ

๑. เป็นศูนย์กลางในการอบรมและเผยแพร่การศึกษาด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งแก่ส่วนราชการและประชาชนทั่วไปและเป็นหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำฟาร์มทะเล

๒. ยกระดับฐานะความเป็นอยู่ ลดต้นทุนการผลิตในอาชีพด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการนำความรู้ที่ได้จากศูนย์ฯ มาประยุกต์ใช้กับการประกอบอาชีพ

๓. ทำให้การปฏิบัติงานของศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามแผนงาน/โครงการ นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีศักยภาพ โดยเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น


ที่ตั้ง-ติดต่อ

แผนที่การเดินทางไปอ่าวคุ้งกระเบน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ โทรศัพท์ ๐-๓๙๓๖-๙๒๑๗-๙ โทรสาร ๐-๓๙๓๖-๙๒๑๙

เว็บไซต์ :: http://www.fisheries.go.th/cf-kung_krabaen/index_1.htm