ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติความเป็นมา - วัตถุประสงค์

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้และพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวเป็นป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมมีความลาดชันไม่สูงมากนักไม่มีราษฎรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ ดังนั้นจึงได้พระราชทานพระราชดำริที่จะใช้ลุ่มน้ำดังกล่าว เป็นลุ่มน้ำสำหรับศึกษา ในการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ โดยใช้ระบบน้ำชลประทานเป็นแกนนำ และเนื่องมาจากสภาพป่าเต็งรังที่เสื่อมโทรมนี้เป็นสภาพลุ่มน้ำที่มีอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่ภาคเหนือ หากว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชนิดนี้ได้รับการพัฒนาแล้วก็จะทำให้ พื้นที่ต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ รวมทั้งความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำชนิดนี้มีสภาพดีขึ้นไปด้วย ดังนั้นสืบเนื่องมาจากแนวพระราชดำรินี้ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อศึกษาการพัฒนาก็ได้เริ่มขึ้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นบริเวณป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ขอบเขตพื้นที่โครงการประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง วิจัย เพื่อหารูปแบบการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคเหนือ และเผยแพร่แก่ราษฎรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเองต่อไป โดยทำการศึกษาพัฒนาป่าไม้ ๓ อย่าง ๓ วิธี เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง คือมีไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เชื้อเพลิง ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจน คงความชุ่มชื้นเอาไว้เป็นประโยชน์อย่างที่ ๔ และพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้ได้ผล อย่างสมบูรณ์เป็นหลัก โดยต้นทางเป็นการศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร และปลายทางเป็นการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ผสมกับ การศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม และด้านเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์ที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษา กิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ฯแล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผลต่อไป


การดำเนินงานภายในศูนย์

ราษฎรโดยทั่วไป โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์จนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ ๒ ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ ๑ งานการศึกษา ทดลอง และวิจัย

๑. งานศึกษาและพัฒนาแหล่งน้ำ

๒. งานศึกษาและพัฒนาป่าไม้

๓. งานศึกษาและพัฒนาที่ดิน

๔. งานศึกษาและทดสอบการปลูกพืช

๕. งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรมแบบประณีต

๖. งานศึกษาและพัฒนาปศุสัตว์และโคนม

๗. งานศึกษาและพัฒนาการประมง

๘. งานอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์กบ

ส่วนที่ ๒ งานขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนา

งานพัฒนาหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ และถ่ายทอดเทคโนโลยี การดำเนินงานเริ่มในปี ๒๕๓๒ มีความก้าวหน้าไปด้วยดี โดยแบ่งงานพัฒนาดังนี้

- งานพัฒนาด้านป่าไม้ ฝึกอบรมและชี้แจงราษฎรหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ ให้รู้และเข้าใจถึงผลกระทบในการตัดไม้ทำลายป่า และให้มีความรู้ เกี่ยวกับไฟป่า

- งานพัฒนาที่ดิน ฝึกอบรมราษฎรเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ

- งานส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชสวนไม้ผล พืชสวนอุตสาหกรรม พืชไร่ งานข้าวสาธิต และการเกษตรผสมผสาน

- งานส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน ฝึกอบรมการตัดเย็บเสื้อผ้า การทอผ้า การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษสา และการแปรรูปถนอมอาหารในกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

- งานส่งเสริมปศุสัตว์ ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ตลอดจนสัตว์ปีก

- งานส่งเสริมการประมง ฝึกอบรมและส่งเสริมปลาประเภทต่างๆ นอกจากนี้ ได้สาธิตการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทฤษฎีใหม่ในหมู่บ้าน รอบศูนย์ฯ มีราษฎรเข้าร่วมโครงการ ๖ ราย โดยเป็นเจ้าของที่ดินและมีอาชีพเกษตรกรรม ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำในพื้นที่ของเกษตรกร จำนวน ๘ แห่ง พร้อมระบบท่อชักน้ำจากคลองส่งน้ำ / อ่างเก็บน้ำเข้าสู่สระเก็บน้ำ เพื่อใช้สำหรับเติมน้ำเพิ่มให้สระเก็บน้ำที่ขุดไว้ในช่วง การขาดแคลนน้ำในฤดูน้ำแล้งและสามารถปลูกไม้ผลได้


พื้นที่ดำเนินงาน

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่โครงการ ประมาณ ๘,๕๐๐ ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติ “ป่าขุนแม่กวง” ลักษณะภูมิประเทศ ทั่วไปเป็นป่าเขา ทิศเหนือเป็นป่าไม้เบญจพรรณพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ เป็นป่าที่มีสภาพค่อนข้างเสื่อมโทรมซึ่งใช้เป็นพื้นที่ในการศึกษาพัฒนาเกษตรกรรมด้านต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายในการ ดำเนินงานและศูนย์สาขา มีดังนี้

๑. พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่ดำเนินงานและการใช้ประโยชน์ที่ดินในศูนย์ฯ ได้พิจารณาจากแนวพระราชดำริ แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ

- พื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยน้ำฝน

ประกอบด้วย พื้นที่ตอนบนที่มีความลาดชันมากและไม่สามารถนำระบบชลประทานเข้าไปในพื้นที่ได้ และพื้นที่บางส่วนทางตอนล่างที่รับน้ำจากอ่างเก็บ น้ำที่ ๑ เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอใส่ในร่องห้วยบางส่วนของพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกมีการสร้างฝายต้นน้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่ที่พัฒนาป่าไม้ด้วยฝายต้นน้ำลำธารที่รองรับน้ำฝน มีการปลูกป่าเฉพาะในพื้นที่ถูกทำลายหรือความหนาแน่นของป่าน้อยมาก บำรุงป่าไม้โดยการตัดต้นไม้ที่มีลักษณะไม่ดีออก ป้องกันการลักลอบการตัดไม้และขุดหน่อไม้ ตลอดจนจัดระบบป้องกันไฟป่า พื้นที่บางส่วนที่ติดกับอ่างเก็บน้ำที่ ๒ ถูกใช้สำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เพื่อพัฒนาต้นน้ำรวมพื้นที่ ๖,๐๐๐ ไร่

- พื้นที่พัฒนาป่าไม้ด้วยระบบน้ำชลประทาน

พื้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ที่สามารถนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ ๑ มาใช้ในพื้นที่ได้ โดยการปล่อยน้ำผ่านท่อน้ำจากสันเขา ในร่องห้วยมีการสร้างฝายต้นน้ำลำธารเป็นระยะ เพื่อกักเก็บน้ำเป็นช่องเพื่อเพิ่มระดับน้ำผิวดินและใต้ดิน และมีการขุดคลองใส้ไก่ขนาดเล็ก ส่งน้ำออกไปสองข้างของฝายต้นน้ำลำธาร เพิ่มความชื้นให้กระจายออกทั่วพื้นที่ ทำให้ฝายต้นน้ำดังกล่าว มีสภาพเป็นแนวกันไฟเปียกที่ลดความรุนแรงและการลุกลามของไฟ มีการปลูกเสริมป่าและระบบบำรุงและป้องกันรักษาป่า ตลอดจนจัดทำทุ่งหญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่า ปลูกไม้ที่ให้ผลเป็นอาหารสัตว์ป่า พร้อมทั้ง ปลูกไม้ไผ่ ไม้ผลในร่ม พริกไทย หวาย และมะก่อหลวง(มะคาเดเมีย) ผสมในป่า กล่าวได้ว่าเป็นรูปแบบการพัฒนาป่าไม้แบบเข้มข้นเพื่อประโยชน์แบบอเนกประสงค์ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๘๐๐ ไร่

- พื้นที่พัฒนาการเกษตร

เป็นพื้นที่ตอนกลางของลุ่มน้ำ โดยทดสอบการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมและผสมผสานกับการปลูกป่าในรูปวนเกษตร ตลอดจนหารูปแบบการเพาะปลูกที่เหมาะสมกับสังคมชนบทในภาคเหนือตอนบนและอนุรักษ์ดินและน้ำ ประกอบด้วย การทดสอบปลูกข้าวและพืชไร่อื่นๆ ไม้ผล สมุนไพร พืชผักพื้นบ้าน ไม้ดอกไม้ประดับ พืชเพื่ออุตสาหกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนเป็นแหล่งสะสมพันธุกรรมพืช ทั้งไม้พื้นบ้านและไม้ที่นำเข้าจากแหล่งอื่นทั้งในและนอกประเทศ รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๖๐๐ ไร่

- พื้นที่พัฒนาการปศุสัตว์

ในตอนล่างของพื้นที่ที่ซึ่งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำที่ ๗ ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ใช้ในกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ เป็นการเลี้ยงสัตว์ในสภาพป่าโปร่ง เพื่อเพิ่มคุณค่าของป่า ทั้งหารูปแบบการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพป่าไม้ในภาคเหนือตอนบน ทั้งในแง่ของการผลิตอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพของป่าในรูปของการเจริญเติบโตของไม้ป่า และการกระจายของลูกไม้ สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ คือ วัวนม นอกจากนี้ยังมี ไก่ เป็ด ห่าน และสุกร รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๗๐ ไร

- พื้นที่อ่างเก็บน้ำและพัฒนาการประมง

อ่างเก็บน้ำในศูนย์ฯ มีทั้งหมด ๗ อ่าง ประกอบด้วยอ่างใหญ่ ๓ อ่าง ถูกสร้างมาเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนั้นใช้ในกิจกรรมการทดลองการ เลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำ ตลอดจนศึกษาการจัดรูปบริหารแหล่งน้ำเพื่อการประมง โดยเฉพาะการจัดให้มีการบริหารจับปลาของชาวบ้านหมู่บ้านปางเรียงเรือ และยังเป็นที่พัมผ่อนหย่อนใจของประชาชนที่เข้ามาตกปลา รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๔๐๐ ไร่

๒. ศูนย์สาขาที่ ๑โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.หางดง จ.เชียงใหม่

๓. ศูนย์สาขาที่ ๒ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน

๔. ศูนย์สาขาที่ ๓ โครงการพัฒนาพื้นที่ห้วยลาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

๕. ศูนย์สาขาที่ ๔ โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

๖. ศูนย์สาขาที่ ๕โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย


หน่วยงานที่รับผิดชอบ

กิจกรรมในห้วยฮ่องไคร้
  • กรมชลประทาน
  • กรมวิชาการเกษตร
  • จังหวัดเชียงใหม่
  • กรมป่าไม้
  • กรมส่งเสริมการเกษตร
  • กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
  • กรมประมง
  • กรมพัฒนาชุมชน
  • กรมปศุสัตว์
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • กรมการศึกษานอกโรงเรียน
  • กรมพัฒนาที่ดิน
  • กรมอุตินิยมวิทยา
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
  • องค์การส่งเสริมกิจกรรมโคนมแห่งประเทศไทย

ที่ตั้ง-ติดต่อ

แผนที่เดินทางไปห้วยฮ่องไคร้
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ตั้งอยู่ ณ ตำบลป่าเมี่ยง และตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บนถนนหลวงเส้นทางที่ 118 สายเชียงใหม่ - เชียงราย ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร โดยอยู่ทางขวามือห่างจากถนนประมาณ 2 กิโลเมตร

โทรศัพท์ 0-5338-9228-9 โทรสาร 0-5338-9229