ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ

ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ

มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ (กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อดีตเลขาธิการ กปร)

ภูมิสังคม1.jpg
ปัจจุบันได้มีการพูด การคิดและการทำในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนกันมาก เดิมทีการพัฒนาของประเทศไทย คือการเน้นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ประการเดียว และการพัฒนาในรูปแบบนี้ทำไปนานเข้าผู้คนเริ่มตระหนักกันว่า การพัฒนาที่มุ่งเห็นที่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์นานับปการ ยกตัวอย่างเช่น ทรัพยากรธรรมชาติทุกด้านถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่คิดถึงผลกระทบทางนิเวศวิทยา คุณภาพชีวิตของทั้งพืชและสัตว์ รวมถึงตัวมนุษย์เองด้วย ทำให้มีการสรุปกันว่า ผลการพัฒนาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันไม่ยั่งยืน เพราะการพัฒนานั้นขาดความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นกระแสของการพัฒนายุคใหม่ก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยืนอยู่บนความพอดีและมีดุลยภาพ มีผู้ให้นิยามการพัฒนาในรูปแบบใหม่นี้แตกต่างกันไป แต่ก็พอสรุปได้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่การพัฒนาที่มีดุลยภาพระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ที่ยืนยาวต่อไปในอนาคต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหลากหลายเพื่อพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ให้อยู่ในระดับที่พอรับได้และพออยู่-พอกิน สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และอยู่ในแผ่นดินไทย แผ่นดินไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอู่ข้าว-อู่น้ำ อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่การเร่งรัดพัฒนาตามแนวคิดและทฤษฎีทางตะวันตกในยุคหนึ่ง ทำให้เกิดผลข้างเคียงของการพัฒนา ทำให้ต้องมาคิดถึงเรื่อง "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่พระองค์ทรงดำเนินการมานานแล้วกว่า ๕ ทศวรรษ และกล่าวได้ว่าทรงดำเนินการมาก่อนที่จะมีผู้ใดคำนึงถึงเรื่อง "ความยั่งยืน" ด้วยซ้ำไป


ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ


กังหันลม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นเสมอว่า การพัฒนาหรือการดำเนินการอะไรก็ตาม ต้องยึดหลักสำคัญคือให้สอดคล้องกับ ภูมิสังคม ซึ่งนั่นก็คือการพัฒนาโดยยึดหลักสภาพความเป็นจริงของ "ภูมิประเทศ" ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยา ด้านลักษณะนิสัยประจำถิ่น คือ นิสัยใจคอความเคยชิน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อและหลักศาสนาเป็นต้น และการพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ ก็คือหลักสำคัญยิ่งของการัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง ดังพระราชกระแสว่า "...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศ ทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยา คือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วย โดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปช่วยดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจ หลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง..."

จากพระราชกระแสนี้ ทำให้เห็นชัดว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้นได้ยึดถือสภาพความเป็นจริงของ "ภูมิประเทศ" และ "ภูมิสังคม" คือ ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยา ที่เกี่ยวกับนิสัยใจคอ และพื้นฐานทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นหลัก เป็นการพัฒนาโดยรอมชอมกับหลักความเป็นจริง และไม่ใช่วิธีการหักหาญเป็นหลัก การพัฒนามุ่งเน้น หรือเร่งรีบเพื่อให้เกิดความเจริญ หรือความเป็น "ทันสมัย" โดยไม่มีรากฐานที่ดีนั้น ย่อมเป็นการพัฒนาตามที่มีรับสั่งว่า "เป็นการพัฒนาตามด้วยกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่" ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่พึงกระทำ

นอกไปจากนี้ยังทรงอธิบายอีกว่า การพัฒนาไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการรักษาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ด้วย ดังพระราชกระแสว่า "...นอกจากการสร้างสิ่งใหม่แล้ว ยังมีการรักษาความเจริญที่มีอยู่แล้วอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาระสำคัญเหมือนกัน ทุกคนจะละเลยมิได้..." และอีกตอนหนึ่งที่ว่า "...การพัฒนาไม่ใช่การล้มล้างของเก่า ตรงกันข้าม การล้มล้างของเก่าอาจนำไปสู่การชะงักงันได้ อีกทั้งการล้มล้างด้วยวิธีการรุนแรงยังทำให้เกิดความปั่นป่วนและร้าวฉานแก่ประเทศได้..."

เท่าที่รวบรวมพระราชกระแสเกี่ยวกับการพัฒนามาแสดงไว้นี้ ก็เพื่อให้เห็นว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ คือ การพัฒนาที่สอดคล้องกับภูมิสังคมและยึดภูมิสังคมเป็นหลักในการดำเนินการนั่นเอง


การพัฒนาบนหลักของภูมิสังคม

ดังกล่าวแล้วเบื้องต้นว่า การพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นจะเน้นการยึดถือสภาพตามความเป็นจริงของภูมิประเทศ ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยา และด้านวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวกับนิสัยใจคอ และอัธยาศัยของคนในพื้นที่พัฒนาเป็นหลัก โดยทรงเน้นเสมอว่า จะพัฒนาอะไรหรือจะทำการใดนั้น ขอให้ยึดหลักสำคัญคือ การทำให้สอดคล้องกับ "ภูมิสังคม" เป็นหลัก

"ภูมิสังคม" มีขอบเขตกว้างขวางและมีความหมายอย่างไร มีผู้รู้ให้อรรถาธิบายว่า

ภูมิ หมายความถึง ลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งก็คือสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นเอง พูดแบบชาวบ้านก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง เพราะสภาพภูมิประเทศในแต่ละภูมิภาคนั้น แตกต่างกันไปมาก ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิความหนาวร้อน ความแห้งแล้งและชุ่มฉ่ำแตกต่างกันไป อย่างในประเทศไทย ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทางใต้เป็นพื้นที่พรุ ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงแห้งแล้งในบางส่วน เป็นต้น

สังคม คือสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิต แนวคิดทัศนคติ ที่แตกต่างกันและอยู่ล้อมรอบผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น นักวางแผนพัฒนาจะต้องไม่ประเมินหรือคาดการณ์ว่าผู้คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะมีวัฒนธรรม ค่านิยม และการชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดเหมือนกันไปหมดเป็นบรรทัดฐาน เราจะต้องไม่ไปตัดสินใจแทนเขาในเรื่องของความต้องการและความพึงพอใจตามแนวคิดที่ผูกพันอยู่กับเรา

ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาจึงต้องคำนึงถึงหลัก ๒ ประการนี้เป็นสำคัญ อย่าได้ไปแปรเปลี่ยนสภาพ ทั้งของผู้คนในพื้นที่และภูมิประเทศตรงนั้นให้เสียไปจากสภาพเดิมเป็นประการสำคัญ


ขั้นตอน - ความสำคัญก่อนหลัง - และการรักษาสภาพเดิมไว้

ภาพชาวนา
การพัฒนาโดยยึดหลัก "ภูมิสังคม" นั้นจะต้องยึดหลักขั้นตอนของการดำเนินการว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนสภาพแวดล้อมทุกอย่างลงตัว ดังเช่น ทฤษฎีของการ "ระเบิดจากข้างใน" ซึ่งก็คือ ความพร้อมของทุกคนในสังคมนั้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันและพลังในการ่วมกันคิดร่วมกันทำในสิ่งที่ทุกคนเห็นว่าเป็นปัญหาและจะต้องพัฒนาให้ก่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวมในสังคมนั้น และเมื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของชุมชนได้เองแล้ว จึงค่อยขยายการดำเนินงานออกสู่สังคมภายนอก

มีเหตุการณ์ในเรื่องของ "ความพร้อม" ที่น่สนใจและสะท้อนให้เห็นปรัชญาและแนวคิดของพระองค์ในเรื่องของการพัฒนาอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว ในกรณีโครงการพัฒนาพื้นที่หุบกระพง ซึ่งเป็นโครงการแรกๆ ของโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีพระราชกระแสว่า "...ห้ามหน่วยราชการ นำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการเร็วนัก เพราะว่าถ้าหากนำเครื่องจักรกล (เช่นรถไถ) เข้าไปดำเนินการแล้ว ชาวบ้านจะทิ้งจอบ ทิ้งเสียม และจะใช้ไม่เป็นและเขาจะช่วยตัวเองไม่ได้ในระยะยาว..."

ส่วนในเรื่องความสำคัญ ก่อนหลังว่า อะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วนนั้น มีพระราชดำรัสคราวหนึ่งว่า "การพัฒนาประเทศจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยให้รอบคอบว่า อะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ควรทำก่อนและอะไรที่ยังไม่ควรทำ" ทรงยกตัวอย่างการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนึ่ง ที่จังหวัดสุโขทัย มีราษฎรเข้ามากราบบังคมทูลขอให้พัฒนาถนนลูกรัง ซึ่งมีฝุ่นมากให้เป็นถนนราดยาง เพื่อการสัญจรไปมา ซึ่งทรงมองเห็นว่ามีสิ่งที่เร่งด่วนกว่า คือ แหล่งน้ำเพื่อที่จะได้มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพาะปลูกได้ตลอดปี เกษตรกรสามารถทำนาและปลูกพืชหมุนเวียน ทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้น ๒-๓ เท่า ส่วนการพัฒนาถนนคงจะกระทำได้ง่ายในลำดับถัดไป

"...ก็เลยถามเขาว่า พวกเราชอบกินอะไร ชอบกินข้าวหรือชอบกินฝุ่น เขาก็บอกว่าชอบกินข้าว ถ้าชอบกินข้าวก็สมควรที่จะพัฒนาให้มีข้าวมากขึ้น ให้มีรายได้ เมื่อกินข้าวได้แล้ว และมี่รายได้มากขึ้น การราดยางพัฒนาถนนก็จะเป็นเรื่องเล็ก ง่ายมาก เขาก็พอเข้าใจ..."

ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเพียงสังเขปนี้ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงแนวคิดและปรัชญาการพัฒนาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นและให้ความสำคัญของการพัฒนาที่มิได้ "รื้องทิ้ง" คุณค่าและสิ่งสำคัญเดิมที่ควรอนุรักษ์ไว้ และการพัฒนาที่เป็นขั้นตอนอย่างการ "ค่อยเป็นค่อยไป" โดยไม่กระทบต่อความสามารถและศักยภาพของประชาชนในท้องถิ่น ในการปรับตัวรับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สามารถยกขึ้นเป็นตัวอย่างและเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดหลัก "ภูมิสังคม" อย่างเด่นชัดอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำงานกันอย่างมีบูรณาการและยึดหลัก "ภูมิสังคม" เป็นหลัก โดยทรงจำลองพื้นที่ซึ่งมีลักษณะจำเพาะและเฉพาะของแต่ละภูมิภาคไว้สำหรับพัฒนาให้เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำหรับเกษตรกร ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการบริหารงานร่วมกันอย่างไม่แบ่งแยก เฉพาะส่วนอย่างที่เคยทำกันในอดีต นอกจากนี้ยังสาธิตวิธีแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ ด้านวิชาการเกษตร ด้านแหล่งน้ำ ป่าไม้ตลอดจนด้านสังคม ให้ประชาชนสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้

สรุปได้ว่า แนวพระราชดำริในการพัฒนาทุกเรื่อง ทรงแนะนำให้ผู้ดำเนินการพัฒนา ศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของท้องถิ่น รวมตลอดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งก็คือการพัฒนาโดยยึดหลัก "ภูมิสังคม" เป็นแนวทางนั่นเอง


ดูข้อมูลศูนย์ศึกษาการพัฒนา