ภาพพระราชกรณียกิจชุดที่ 1


071009-พระราชกรณียกิจ-02.jpg

พระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทย

นับจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระราชจริยวัตรอันงดงาม

เป็นพระมิ่งขวัญแห่งแผ่นดินที่ปวงชนชาวไทยเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมา

071009-พระราชกรณียกิจ-03.jpg
หลังจากทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญจากรัฐบาลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
071009-พระราชกรณียกิจ-04.jpg
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ และได้สถาปนาพระอัครมเหสีเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

071009-พระราชกรณียกิจ-05-1.jpg
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของพระมหากษัตริย์ในการเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นเสมือนการประกาศความเป็นองค์พระประมุขของชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง และในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

071009-พระราชกรณียกิจ-06.jpg
พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

เป็นพระราชพิธีต่อเนื่องจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีนัยว่าหมายถึงการเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในพระราชมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวังตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

071009-พระราชกรณียกิจ-07.jpg
พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เนื่องในการประสูติของพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ตามขัตติยราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธี ฉลองประสูติมงคลขึ้นในวันที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดชภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๕ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ ในระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

071009-พระราชกรณียกิจ-08.jpg
พระราชพิธีทรงพระผนวช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธมามกะที่มีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดพระราชพิธีทรงพระผนวชในวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง

ในระหว่างทรงดำรงสมณเพศเป็นระยะเวลา ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระผนวชประทับที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นเดียวกับภิกษุทั่วไป เช่น เสด็จลงพระอุโบสถ ทรงทำวัตรเช้า - เย็น และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับบิณฑบาตจากประชาชน ก่อนทรงลาสิกขาในวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙