การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ
พุทธศักราช ๒๕๓๐ : โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย
ปลูกคนปลูกสิ่งแวดล้อม : โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๐ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ดอยตุง ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูสภาพป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของราษฎรบนที่สูง ตามพระราชกระแสรับสั่งในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ความว่า"...ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง..."
พุทธศักราช ๒๕๓๒ : แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
แก้ปัญหาโลกร้อน : ศึกษาวิจัยการผลิตออกซิเจนของต้นไม้
แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหานี้ ทรงมีแนวทางวิธีที่จะใช้วิธีทางธรรมชาติเข้าแก้ไขธรรมชาติด้วยกันเอง โดยมีพระราชดำริให้นักวิชาการ หรือศูนย์ศึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยหาปริมาณของออกซิเจนที่ต้นไม้ผลิตออกมาและศึกษาว่าพืชชนิดใด จะสามารถผลิตออกซิเจนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ การศึกษาหาปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในพืชต่างๆ เนื่องจากพืชที่เก็บคาร์บอนไว้นั้น ส่วนใหญ่จะมาจากคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อเป็นดังนี้ก็สามารถกำหนดจำนวนคาร์บอนได้ออกไซด์ที่พืชดูดซับเข้าไป และจำนวนออกซิเจนที่พืชคายออกมา และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกันก็จะสามารถทราบได้ว่าพืชชนิดใดสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่า หรือสามารถคายออกซิเจนได้มากที่สุด ก็จะส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ชนิดนั้นให้มากๆ เพราะนอกจากจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแล้ว ยังเพิ่มปริมาณออกซิเจนด้วย ซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหากรีนเฮาส์เอฟเฟ็ค ได้วิธีหนึ่ง
- วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ เสด็จพระราชดำเนิน ไปบ้านนานกเค้า จังหวัดสกลนคร
พุทธศักราช ๒๕๓๓ : โครงการแกล้งดิน
ดินเปรี้ยว : โครงการแกล้งดิน
การปรับปรุงดินในพื้นที่ลุ่มต่ำ (ดินพรุ) ซึ่งเป็นดินอินทรีย์และดินเปรี้ยวจัด ได้ดำเนินการจัดทำแปลงทดลองแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลง ซึ่งมีคันดินล้อมรอบและสามารถสูบน้ำเข้า-ออก เพื่อให้ดินแต่ละแปลงแห้งและเปียกในระยะเวลาต่าง ๆ กันตามที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันได้เก็บตัวอย่างดินของแต่ละแปลงเป็นระยะ ๆ มาวิเคราะห์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเคมี เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง ความเป็นกรดของดิน และได้ทำการทดลองปลูกพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล ผักพืชไร่ รวมทั้งข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ ข้าวพันธุ์ลูกแดง ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองสามารถทดต่อสภาพดินเปรี้ยวได้
พุทธศักราช ๒๕๓๕ : โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดสกลนคร
พัฒนาลุ่มน้ำทั้งระบบ : โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ
"ตัวยึกยือ" หรือที่บางคนพิจารณาว่าคล้ายกระบวยยักษ์ บางคนก็ว่าเหมือนปลาดุกที่เหลือแต่ก้าง ประกอบด้วยลักษณะของส่วนหัวอันหมายถึงหนองหาน กระดูกสันหลังหมายถึงลำน้ำก่ำ ข้อที่เป็นปล้อง ๆ หมายถึง อาคารบังคับน้ำ ขอบลำตัวเปรียบเสมือนคลองระบายน้ำที่คู่ขนานไปกับลำน้ำก่ำ และส่วนหางก็คือ แม่น้ำโขง
**ข้อมูลจาก หนังสือ ๘๐ ทศวรรษแห่งการพัฒนา จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ