การแก้ปัญหาคมนาคมในมหานคร

 

พุทธศักราช ๒๕๑๔ การแก้ปัญหาคมนาคมในมหานคร

ภาพทางด่วน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริด้านการแก้ปัญหาการจราจรเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ โดยในครั้งนั้น มีรับสั่งให้รัฐบาลดำเนินการสร้างถนนวงแหวนขึ้น แทนการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ที่รัฐบาลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง เนื่องในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี
เกี่ยวกับปัญหาเสร้างทางจราจร ในกรุงเทพฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาว่า ประเด็นหนึ่งเกิดจากการที่กรุงเทพฯ มิได้มีแผนผังเมืองที่จริงจัง ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๗ ความตอนหนึ่งว่า

"... สำหรับการจราจรเครื่องมือนั้นสำคัญที่สุดก็คือถนน ก็ต้องมีถนนที่เหมาะสม มีเครื่องควบคุมจราจรที่เหมาะสม และมีเกฎเกณฑ์ของแต่ละแห่ง แต่ละส่วนของผิวจราจรนั้นให้เหมาะสม อันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องนิติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องรัฐศาสตร์ หรือของตำรวจ หรือของศาล เป็นเรื่องของวิศวกรรม ก็จะต้องทำวิศวกรรมให้ดีขึ้น คือ หมายความว่า ทำถนนให้ดีขึ้นให้สอดคล้อง ซึ่งเป็นการบ้านที่หนักที่สุด เพราะว่ากรุงเทพฯ ได้สร้างมาเป็นเวลา ๒๐๐ ปีแล้ว ไม่ได้มีผังเมืองที่จริงๆ จัง ๆ ก็มีการผังเมืองของทางการ แต่ว่าก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก เพราะว่าคนไทยตามชื่อเป็นคนไทย คือมีอิสระบังคับกันไม่ได้ จะสร้างอะไรก็สร้าง อยากจะสร้างเดี๋ยวก็สร้างไปขวางกับคนอื่น คือขวางทางอื่น อันนี้ก็เลยแก้ไขไม่ได้..."

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยถึงความเดือดร้อนของประชาชน ที่ต้องเผชิญอยู่กับปัญหาการจราจรทุกวันได้เป็นอย่างดี ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่เอกอัครราชทูต และกงศุลใหญ่ที่ประจำการในต่างประเทศ เนื่องในโอกาสเข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า


ขยายผิวจราจรถนนราชดำเนินหน้ากรมประชาสัมพันธ์
"การที่จราจรคับคั่งเป็นปัญหาที่ยุ่งยาก และขอพูดคือประชาชนเดือดร้อน ประชาชนจะไปทำงานทำการต้องเสียเวลาบนถนน ระหว่าง ๒-๑๐ ชั่วโมง ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของบุคคลด้วยลงไป"

การที่ทรงทราบว่าการจราจรในกรุงเทพมหานครคับคั่งนั้น ทรงอธิบายว่า

"ถ้าดูแล้ว ท่านทั้งหลายอาจนึกเหมือนบางคน ไม่ใช่บางคนเกือบทุกคนบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่ในวัง ไม่ออกไปเท่าไร ไม่เที่ยวไหน เพราะไม่ใช่เป็นคนเที่ยว ทำไมรู้ว่าตรงโน้นตรงนี้คับคั่ง ทำไมรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร มันมาจากไอที คือว่า Information Technology จราจรในกรุงเทพฯนี้ ถนนมีพอถ้าเฉลี่ยรถไป รถที่ใช้ไม่ใช่จำนวนรถทั้งหมดที่มีในกรุงเทพฯ แต่รถที่กำลังใช้อยู่ในกรุงเทพฯนี้ บางท่านมีรถ ๒๐ คัน ๓๐ คัน แต่ท่านเป็นคนเดียว มีสองขาสองแขน ท่านจะขับรถสิบคันไม่ได้ ท่านไม่ได้เป็นทศกัณฑ์ ทศกัณฑ์เองสมมติว่ามีรถ ท่านก็คงใช้รถสิบคันพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าทศกัณฐ์มียี่สิบกรจริง มีสิบเศียรแต่แยกไม่ได้ แยกได้แต่หัวใจ ไม่สามารถที่จะใช้รถสิบคันพร้อมกัน ฉะนั้นคนที่มีรถหลายคันไม่ได้เป็นอันตรายต่อปัญหาจราจร ต้องดูว่าในเวลาเดียวกันจะมีรถแล่นกี่คัน"


พระราชดำริ...เชื่อมต่อถนน

หลังจากทรงศึกษาปัญหาการจราจรในกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งนำไปสู่การก่อสร้างถนน และปรับปรุงเส้นทางสัญจรหลายสาย ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก โครงการถนนเลียบทางรถไฟสายใต้จากสถานีบางกอกน้อยถึงถนนจรัญสนิทวงศ์ โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจรถนนราชดำเนินหน้ากรมประชาสัมพันธ์ โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าลีสาศ โครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างสะพานพระราม ๙กับถนนเทียมร่วมมิตร โครงการก่อสร้างถนนสายที่ ๑ เชื่อระหว่างถนนพระราม ๙ กับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างถนนพระราม ๙ กับถนนประชาอุทิศ โครงการก่อสร้างสพะพานคนเดินข้ามถนนรัชดาภิเษก โครงการทางยกระดับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี โครงการสะพานพระราม ๘ หนึ่งในโครงการจตุรทิศ โครงการพัฒนาอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเพิ่มพื้นที่การจรจร โครงการก่อสร้างถนนเลียบบึงมักกะสัน จากถนนศรีอยุธยาถึงอโศกดินแดง และโครงการขยายถนนศรีอยุธยาข้างสวนจิตรลดา
แผนที่การปรับปรุงถนนสายต่างต่าง

โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายผิวจราจร ถนนราชดำเนิน บริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าลีสาศ โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก

ทางเชื่อมจตุรทิศ

ก่อนเกิดการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีจะได้รับความสะดวกดังปัจจุบัน ฝั่งธนบรีมีถนนจรัญสนิทวงศ์ เพื่อสายเดียวที่เป็นถนนสายหลักเชื่อกรุงเทพฯมหานครฝั่งตะวันตกเข้ากับฝั่งตะวันออก คือ เชื่อมต่อระหว่างสะพานกรุงเทพกับสะพานพระราม ๗ ถนนจรัญสนิทวงศ์จึงเป็นเส้นคมนาคมสู่ย่านชุมชนสำคัญหลายจุด ได้แก่ ท่าพระ บางขุนนนท์และบางพลัด รวมทั้งได้ใช้เป็นเเส้นทางไปสู่ถนนเพชรเกษมหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๕ ซึ่งเป็นเส้นทางสู่จังหวัดในภาคตะวันตกและภาคใต ได้แก่นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ ด้วยระยะต่อมา แม้ว่ารัฐจะเพิ่มเส้นทางหลวงพิเศษหมายเลข ๓๕ สายธนบุรี-ปากท่อ อันเป็นเส้นทางหลักไปจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ แล้ว แต่ปริมาณการจราจรก็ยังคงหนาแน่นไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความคับคั่งบนถนนเพชรเกษม และถนนธนบุรี-ปากท่อ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อโครงข่ายถนนในเมืองด้วย
สะพานพระรามแปด
ระบบการจัดการการจราจรของโครงการจตุรทิศแนวตะวันออก-ตะวันตก จึงเป็นการเตรียมเส้นทางจราจรรองรับการขยายตัวของประชากร ประกอบด้วย ถนนยกระดับเชื่อมต่อโครงการคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีที่แยกอรุณอัมรินทร์ ผ่านบางยี่ขัน แล้วสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามแนวถนนวิสุทธิกษัตริย์ คือ สะพานพระราม ๘ เพื่อเชื่อมต่อโครงการพระราชดำริด้านฝั่งพระนคร ได้แก่ถนนเลียบบึงมักกะสัน ซึ่งลัดผ่านถนนอโศก-ดินแดงไปยังถนนพระราม ๙ กับถนนเทียนร่วมมิตร ผ่ายแยกประชาอุทิศไปด้านหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อเชื่อมกับถนนศรีนครินทร์เข้าสู่ถนนกรุงเทพกรีฑา
ดังนั้นเมื่อมีการสร้างทางยกระดับทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีและสะพานพระราม ๘ เส้นทางทั้งสองนี้จึงช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดลงได้ ทำให้ชาวกรุงเทพมหานครสามารถสัญจรข้ามจากฝั่งพระนคร มายังฝั่งธนบุรีได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัส ถึงความเป็นมาเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๘ ณ พระตำหนักจิตรลดรโหฐาน ความว่า

"...อย่างที่โครงการที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้านั้น เขาพูดมานานแล้วอยากจะแก้ไข แล้วก็ได้ไต่ถามว่าเขาจะแก้มั๊ย นี่ปีกว่าแล้ว ปีครึ่งเกือบสองปีเขาบอกมีโครงการแล้วถามว่าจะทำเมื่อไร เขาบอกว่าต้องคิดให้ดีๆ จะใช้เวลาสามปีกว่าจะเสร็จ แล้วจะใช้เงินใระยะนั้น ในครั้งนั้นประมาณสามร้อยล้านบาท เราก็บอกไม่ไหม ทนไม่ได้ คอยไม่ได้ ขอให้ทำตามที่ว่าที่คิด เพราะว่ามันมีที่ตรงนั้นก็มีคนมาผากรมประชาสัมพันธ์ให้แล้ว คือว่าฟรี เมื่อเขาเผาแล้ว เขาก็ทำประโยชน์ให้เรา ก็เลยตัดเข้าไป ลงท้ายทำสามเดือนเสร็จมูลค่าการทำถนนนั้นนะสามสิบล้านเร็วขึ้นมาก แล้วก็สะดวกมาก"
ถนนรถคับคั่ง
นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดสมุทรปราการอีกแห่งหนึ่ง ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ๒ สะพาน ที่ปลายถนนปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง โดยเมื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้วจะบรรจบกับถนนพระราม ๓ ซึ่งจะช่วยระบายปริมาณรถที่มาจากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ย่านสีลม และสาทรได้มากขึ้น



**ข้อมูลจาก หนังสือ ๘๐ พรรษา ปวงประชาสุขศานต์ จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ