ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ"
Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: <center>'''ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ'''</center> <p align="right">มนูญ มุกข์ประด...) |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:40, 8 พฤษภาคม 2551
มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ (กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา อดีตเลขาธิการ กปร)
ดังนั้นกระแสของการพัฒนายุคใหม่ก็คือการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยืนอยู่บนความพอดีและมีดุลยภาพ มีผู้ให้นิยามการพัฒนาในรูปแบบใหม่นี้แตกต่างกันไป แต่ก็พอสรุปได้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่การพัฒนาที่มีดุลยภาพระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ที่ยืนยาวต่อไปในอนาคต
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหลากหลายเพื่อพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ให้อยู่ในระดับที่พอรับได้และพออยู่-พอกิน สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และอยู่ในแผ่นดินไทย แผ่นดินไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นอู่ข้าว-อู่น้ำ อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรและพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่การเร่งรัดพัฒนาตามแนวคิดและทฤษฎีทางตะวันตกในยุคหนึ่ง ทำให้เกิดผลข้างเคียงของการพัฒนา ทำให้ต้องมาคิดถึงเรื่อง "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ที่พระองค์ทรงดำเนินการมานานแล้วกว่า ๕ ทศวรรษ และกล่าวได้ว่าทรงดำเนินการมาก่อนที่จะมีผู้ใดคำนึงถึงเรื่อง "ความยั่งยืน" ด้วยซ้ำไป
ภูมิสังคมกับแนวพระราชดำริ
จากพระราชกระแสนี้ ทำให้เห็นชัดว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำรินั้นได้ยึดถือสภาพความเป็นจริงของ "ภูมิประเทศ" และ "ภูมิสังคม" คือ ทั้งในด้านพื้นที่ดิน ด้านสังคมวิทยา ที่เกี่ยวกับนิสัยใจคอ และพื้นฐานทางวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นหลัก เป็นการพัฒนาโดยรอมชอมกับหลักความเป็นจริง และไม่ใช่วิธีการหักหาญเป็นหลัก การพัฒนามุ่งเน้น หรือเร่งรีบเพื่อให้เกิดความเจริญ หรือความเป็น "ทันสมัย" โดยไม่มีรากฐานที่ดีนั้น ย่อมเป็นการพัฒนาตามที่มีรับสั่งว่า "เป็นการพัฒนาตามด้วยกระหายที่จะสร้างของใหม่เพื่อความแปลกใหม่" ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่พึงกระทำ
นอกไปจากนี้ยังทรงอธิบายอีกว่า การพัฒนาไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการรักษาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ด้วย ดังพระราชกระแสว่า "...นอกจากการสร้างสิ่งใหม่แล้ว ยังมีการรักษาความเจริญที่มีอยู่แล้วอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาระสำคัญเหมือนกัน ทุกคนจะละเลยมิได้..." และอีกตอนหนึ่งที่ว่า "...การพัฒนาไม่ใช่การล้มล้างของเก่า ตรงกันข้าม การล้มล้างของเก่าอาจนำไปสู่การชะงักงันได้ อีกทั้งการล้มล้างด้วยวิธีการรุนแรงยังทำให้เกิดความปั่นป่วนและร้าวฉานแก่ประเทศได้..."
เท่าที่รวบรวมพระราชกระแสเกี่ยวกับการพัฒนามาแสดงไว้นี้ ก็เพื่อให้เห็นว่า การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ คือ การพัฒนาที่สอดคล้องกับภูมิสังคมและยึดภูมิสังคมเป็นหลักในการดำเนินการนั่นเอง
การพัฒนาบนหลักของภูมิสังคม
"ภูมิสังคม" มีขอบเขตกว้างขวางและมีความหมายอย่างไร มีผู้รู้ให้อรรถาธิบายว่า
ภูมิ หมายความถึง ลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งก็คือสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั่นเอง พูดแบบชาวบ้านก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่นเอง เพราะสภาพภูมิประเทศในแต่ละภูมิภาคนั้น แตกต่างกันไปมาก ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิความหนาวร้อน ความแห้งแล้งและชุ่มฉ่ำแตกต่างกันไป อย่างในประเทศไทย ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทางใต้เป็นพื้นที่พรุ ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงแห้งแล้งในบางส่วน เป็นต้น
สังคม คือสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิต แนวคิดทัศนคติ ที่แตกต่างกันและอยู่ล้อมรอบผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น นักวางแผนพัฒนาจะต้องไม่ประเมินหรือคาดการณ์ว่าผู้คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะมีวัฒนธรรม ค่านิยม และการชอบหรือไม่ชอบสิ่งใดเหมือนกันไปหมดเป็นบรรทัดฐาน เราจะต้องไม่ไปตัดสินใจแทนเขาในเรื่องของความต้องการและความพึงพอใจตามแนวคิดที่ผูกพันอยู่กับเรา
ดังนั้น แนวคิดในการพัฒนาจึงต้องคำนึงถึงหลัก ๒ ประการนี้เป็นสำคัญ อย่าได้ไปแปรเปลี่ยนสภาพ ทั้งของผู้คนในพื้นที่และภูมิประเทศตรงนั้นให้เสียไปจากสภาพเดิมเป็นประการสำคัญ
ขั้นตอน - ความสำคัญก่อนหลัง - และการรักษาสภาพเดิมไว้
มีเหตุการณ์ในเรื่องของ "ความพร้อม" ที่น่สนใจและสะท้อนให้เห็นปรัชญาและแนวคิดของพระองค์ในเรื่องของการพัฒนาอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว ในกรณีโครงการพัฒนาพื้นที่หุบกระพง ซึ่งเป็นโครงการแรกๆ ของโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีพระราชกระแสว่า "...ห้ามหน่วยราชการ นำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการเร็วนัก เพราะว่าถ้าหากนำเครื่องจักรกล (เช่นรถไถ) เข้าไปดำเนินการแล้ว ชาวบ้านจะทิ้งจอบ ทิ้งเสียม และจะใช้ไม่เป็นและเขาจะช่วยตัวเองไม่ได้ในระยะยาว..."
ส่วนในเรื่องความสำคัญ ก่อนหลังว่า อะไรเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วนนั้น มีพระราชดำรัสคราวหนึ่งว่า "การพัฒนาประเทศจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยให้รอบคอบว่า อะไรเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ควรทำก่อนและอะไรที่ยังไม่ควรทำ" ทรงยกตัวอย่างการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนึ่ง ที่จังหวัดสุโขทัย มีราษฎรเข้ามากราบบังคมทูลขอให้พัฒนาถนนลูกรัง ซึ่งมีฝุ่นมากให้เป็นถนนราดยาง เพื่อการสัญจรไปมา ซึ่งทรงมองเห็นว่ามีสิ่งที่เร่งด่วนกว่า คือ แหล่งน้ำเพื่อที่จะได้มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้เพาะปลูกได้ตลอดปี เกษตรกรสามารถทำนาและปลูกพืชหมุนเวียน ทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้น ๒-๓ เท่า ส่วนการพัฒนาถนนคงจะกระทำได้ง่ายในลำดับถัดไป
"...ก็เลยถามเขาว่า พวกเราชอบกินอะไร ชอบกินข้าวหรือชอบกินฝุ่น เขาก็บอกว่าชอบกินข้าว ถ้าชอบกินข้าวก็สมควรที่จะพัฒนาให้มีข้าวมากขึ้น ให้มีรายได้ เมื่อกินข้าวได้แล้ว และมี่รายได้มากขึ้น การราดยางพัฒนาถนนก็จะเป็นเรื่องเล็ก ง่ายมาก เขาก็พอเข้าใจ..."
ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นเพียงสังเขปนี้ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงแนวคิดและปรัชญาการพัฒนาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเน้นและให้ความสำคัญของการพัฒนาที่มิได้ "รื้องทิ้ง" คุณค่าและสิ่งสำคัญเดิมที่ควรอนุรักษ์ไว้ และการพัฒนาที่เป็นขั้นตอนอย่างการ "ค่อยเป็นค่อยไป" โดยไม่กระทบต่อความสามารถและศักยภาพของประชาชนในท้องถิ่น ในการปรับตัวรับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงใหม่ๆ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สามารถยกขึ้นเป็นตัวอย่างและเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดหลัก "ภูมิสังคม" อย่างเด่นชัดอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำงานกันอย่างมีบูรณาการและยึดหลัก "ภูมิสังคม" เป็นหลัก โดยทรงจำลองพื้นที่ซึ่งมีลักษณะจำเพาะและเฉพาะของแต่ละภูมิภาคไว้สำหรับพัฒนาให้เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำหรับเกษตรกร ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการบริหารงานร่วมกันอย่างไม่แบ่งแยก เฉพาะส่วนอย่างที่เคยทำกันในอดีต นอกจากนี้ยังสาธิตวิธีแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ ด้านวิชาการเกษตร ด้านแหล่งน้ำ ป่าไม้ตลอดจนด้านสังคม ให้ประชาชนสามารถที่จะนำไปประยุกต์ใช้และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้
สรุปได้ว่า แนวพระราชดำริในการพัฒนาทุกเรื่อง ทรงแนะนำให้ผู้ดำเนินการพัฒนา ศึกษา เรียนรู้และทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศของท้องถิ่น รวมตลอดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งก็คือการพัฒนาโดยยึดหลัก "ภูมิสังคม" เป็นแนวทางนั่นเอง
ดูข้อมูลศูนย์ศึกษาการพัฒนา