รมว.อว.ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ เยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำชุมชนของ สสน. แก้ปัญหาน้ำท่วม จ.ปทุมธานี

06/10/2021

วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำชุมชน ณ ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เยี่ยมชมระบบแก้มลิง ที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็มรุก และดินเปรี้ยวในพื้นที่

พร้อมทั้งเยี่ยมชมตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนคลองรังสิต จังหวัดปทุมธานี ที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ด้วยการนำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจนประสบผลสำเร็จ

ชุมชนคลองรังสิต ทำเกษตรกรรมร่องสวนเป็นอาชีพหลัก เดิมเกษตรกรทำสวนส้ม แต่ประสบปัญหาโรคส้มระบาด และสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นดินเปรี้ยว เกษตรกรจึงเริ่มหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งสามารถทนต่อสภาพดินเปรี้ยวและน้ำท่วมขังได้นานกว่า 1 เดือน เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พื้นที่คลอง 8 9 และ 10 สามารถเก็บกักน้ำและหน่วงน้ำไว้ตามคลองหลัก คลองซอย และร่องสวนปาล์มน้ำมัน จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุทกภัยครั้งนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงสนับสนุนแนวทางบริหารจัดการน้ำในพื้นที่คลองรังสิต โดยพระราชทานเงินบริจาคของวิทยาลัยกระบวนการยุติธรรม ให้สถาบันสารนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใช้ดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และพัฒนาพื้นที่คลองรังสิตเป็นแก้มลิงแบบเพิ่มรายได้ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ พัฒนาพื้นที่ร่องสวนให้ลึกขึ้น เป็นแก้มลิงเก็บน้ำไว้ในร่องสวน สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัย และยังช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ชุมชนคลองรังสิต ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ร่วมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น ระบบโทรมาตรตรวจวัดสภาพอากาศและระดับน้ำอัตโนมัติ เครื่องระบุพิกัด GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ พัฒนา และวางแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของชุมชน ชุมชนได้ดำเนินการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมกับพื้นที่ร่องสวนปาล์ม

รวมทั้งขุดลอกคลองหลักและคลองซอยให้เชื่อมโยงถึงกัน ระยะทางรวม 129 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับบ่อพักน้ำและประตูน้ำที่ได้รับการปรับปรุง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำและระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำในร่องสวนปาล์ม และเชื่อมต่อกับคลองหลักและคลองซอยเหล่านี้เป็นการปรับปรุงการระบายน้ำท่วมเพื่อเก็บกักน้ำนี้ไว้ในแก้มลิง รวมทั้งดำเนินงานทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผักสวนครัว บริเวณร่องสวนปาล์มน้ำมัน รวมทั้งได้ปลูกต้นปาล์มน้ำมันตามแนวคลอง รวม 13,000 ต้น ระยะทาง 72.8 กิโลเมตร เพื่อป้องกันตลิ่งพังทลายและสิ่งก่อสร้างริมคลอง

รวมทั้งขุดลอกคลองหลักและคลองซอยให้เชื่อมโยงถึงกัน ระยะทางรวม 129 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับบ่อพักน้ำและประตูน้ำที่ได้รับการปรับปรุง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำและระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำในร่องสวนปาล์ม และเชื่อมต่อกับคลองหลักและคลองซอยเหล่านี้เป็นการปรับปรุงการระบายน้ำท่วมเพื่อเก็บกักน้ำนี้ไว้ในแก้มลิง รวมทั้งดำเนินงานทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชผักสวนครัว บริเวณร่องสวนปาล์มน้ำมัน รวมทั้งได้ปลูกต้นปาล์มน้ำมันตามแนวคลอง รวม 13,000 ต้น ระยะทาง 72.8 กิโลเมตร เพื่อป้องกันตลิ่งพังทลายและสิ่งก่อสร้างริมคลอง

นอกจากนี้ ชุมชนได้ร่วมกันคิดค้น “เรือดูดตะกอนเลน” ที่ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักไว้ในพื้นที่แก้มลิง (แหล่งกักเก็บน้ำในร่องสวนปาล์ม) การใช้เรือดูดเลน เพิ่มร่องลึก ช่วยเพิ่มความสามารถในการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก ในขณะเดียวกันเป็นการเปิดทางน้ำใหม่ในช่วงหน้าแล้งเพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป รวมทั้งตะกอนดินเลนที่ดูดขึ้นมา ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพืช และเป็นปุ๋ยบำรุงดินหลังจากพัฒนาแหล่งน้ำและโครงสร้างน้ำในพื้นที่ แก้มลิงทุ่งรังสิต ได้ใช้หน่วงน้ำในเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง

ปี พ.ศ. 2555 ในช่วงพายุแกมี (GAEMI) เดือนตุลาคม คลองรังสิตสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และภาคกลางของประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2559 ในเดือนกันยายน ช่วงพายุ “Rai” ที่พัดจากทะเลจีนใต้มาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีระดับสูง ทำให้กรมชลประทานจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ ชุมชนคลองรังสิตจึงร่วมกันเปิดประตูควบคุมน้ำ เพื่อรับน้ำเข้าสู่พื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนแก้มลิง ทำให้ระดับน้ำของคลองระพีพัฒน์ ลดลง 34 เซนติเมตร ภายในเวลาเพียงครึ่งวัน และช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่

ปัจจุบันพื้นที่แก้มลิงทุ่งรังสิต มีประสิทธิภาพในการหน่วงน้ำได้ 213 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเก็บไว้ในร่องสวน 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และในคลองซอย 75 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมที่จะช่วยแบ่งเบาและรับน้ำเข้ามาเก็บในพื้นที่ในสถานการณ์ที่แม่น้ำป่าสักมีปริมาณน้ำสูงในเวลานี้ได้

ด้วยความสำเร็จดังกล่าว ชุมชนรังสิตจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างในโครงการ RECONECT ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) เพื่อศึกษาการลดความเสี่ยงด้านน้ำและสภาพอากาศด้วยกรอบแนวทางธรรมชาติ Nature Based Solutions (NBS) ร่วมกับนานาชาติกว่า 19 ประเทศ

ข่าวอื่นๆ