ปี 2563 : โครงการจัดการน้ำชุมชน สู่การพัฒนาเกษตรกรและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน (พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
21/02/2023
โครงการจัดการน้ำชุมชน สู่การพัฒนาเกษตรกรและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เกิดจากความร่วมมือกับระหว่าง สสน. สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในเรื่อง “การบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยร่วมดำเนินงานขยายผลคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ ในระดับจังหวัด เป็นศูนย์บริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด ที่นำข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ร่วมกับการสำรวจจัดเก็บข้อมูลเชิงพื้นที่เพิ่มเติม มาเป็นข้อเท็จจริงสำหรับบริหารจัดการน้ำ นำไปสู่แผนพัฒนาแหล่งน้ำเชิงพื้นที่ เกิดแผนที่น้ำระดับตำบล เพื่อใช้วิเคราะห์ และจัดทำแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งอย่างเหมาะสม
โดย สสน. มีแผนดำเนินงานลงมือปฏิบัติตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำ สามารถบริหารจัดการ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม โดยมีแผนดำเนินงาน 4 ปี (พ.ศ. 2563 – 2566) ปีละ 25 พื้นที่ รวมทั้งสิ้น 100 พื้นที่ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทานมากที่สุดของประเทศ คือ มากกว่า 62 ล้านไร่
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สสน. ได้เริ่มดำเนินงาน “โครงการจัดการน้ำชุมชน สู่การพัฒนาเกษตรกรและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” จำนวน 12 พื้นที่ โดยคัดเลือกดำเนินงานในพื้นที่ที่มีข้อมูล แผนที่น้ำ และแผนงานพัฒนา จาก 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 พื้นที่เครือข่ายชุมชน ที่ขยายผลจาก 60 ชุมชนแกนนำ
กลุ่มที่ 2 พื้นที่เครือข่าย ของท้องถิ่นและสภาเกษตรกร
ผลสำเร็จของโครงการ จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมในพื้นที่ มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในยามขาดแคลน มีน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร ที่จะช่วยป้องกันปัญหาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ส่งผลให้ชุมชนมีผลผลิตทางเกษตรเพิ่มขึ้น ลดรายจ่ายในครัวเรือน เพิ่มรายได้จากการขายผลผลิต และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
สำหรับผลดำเนินงานในปี 2563 ดำเนินงาน 16 หมู่บ้าน สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ 39 หมู่บ้าน จำนวนผู้รับประโยชน์ 3,593 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 52,449 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 8.2 แสนลูกบาศก์เมตร
ตัวอย่างชุมชนตำบลหนองแก อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
ชุมชนตำบลหนองแก เป็นชุมชนที่อยู่นอกเขตชลประทาน ใช้น้ำฝนและน้ำจากลำห้วยเป็นหลัก หลังจากการสำรวจสภาพทั่วไปของแหล่งน้ำ ร่วมกับ สสน. และ สภาเกษตรกรจังหวัดหนองบัวลำภู พบว่าแหล่งน้ำและโครงสร้างน้ำหลายแห่งมีสภาพตื้นเขิน ขาดการวางระบบกักเก็บน้ำ รวมทั้งส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง แม้จะมีลำห้วยสายหลัก 2 สาย คือ ห้วยอีด่อน และลำห้วยยาง ซึ่งจะไหลลงสู่ลำน้ำมอ ที่ตำบลหันนางาม อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
ชุมชนตำบลหนองแก ร่วมกับ สสน. และ สภาเกษตรกรจังหวัดหนองบัวลำภู ดำเนินงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำเชิงพื้นที่ โดยร่วมกันสำรวจและเก็บข้อมูล ควบคู่กับการใช้แผนที่ดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) วิเคราะห์และจัดทำข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สร้างคณะทำงานที่มีศักยภาพในแต่ละด้าน เพื่อร่วมกันดูแลรักษา และบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับภูมิสังคม
ชุมชนตำบลหนองแก บริหารจัดการฝายเชื่อมโยงแหล่งน้ำและเสริมการกักเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง โดยแต่ละแห่งทำเป็นระบบเปิด – ปิด ด้วยบานไม้เสียบ เพื่อไล่ระดับกักเก็บน้ำให้สัมพันธ์และสอดคล้องกันทั้งระบบ โดยมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนวางแผนการบริหารจัดการน้ำ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำ 80,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ครอบคลุมหมู่ 9 บ้านพุทธไธสงค์ พื้นที่รับประโยชน์ 1,500 ไร่ จำนวน 200 ครัวเรือน 700 คน
ชาวบ้านในชุมชนตำบลหนองแก ประกอบอาชีพเกษตรกรป็นหลัก โดยเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่อ้อย และข้าว ซึ่งมีต้นทุนสูง ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนและเป็นหนี้ หลังการการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำในปี 2563 ชุมชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการพัฒนาเกษตรกรผู้รับประโยชน์ให้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตร
โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ เรื่อง เกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับวิถีเกษตรของชุมชน เน้นการพึ่งพาตนเอง ลดรายจ่าย ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ตลอดทั้งปี สามารถวิเคราะห์ และบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนสามารถวางแผนปฏิทินการเพาะปลูก ซึ่งมีแผนที่จะดำเนินงานสร้างตัวอย่างเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนในพื้นที่ในปี 2564