อว.เปิดเวที”รู้น้ำ รู้อากาศ ปี 68″เผยแนวโน้มฝน หนุนใช้ระบบข้อมูล-เทคโนโลยีจัดการน้ำ ลดผลกระทบจากภัยพิบัติ

16/01/2025

16 มกราคม 2568 – นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นประธานเปิดงาน “รู้น้ำ รู้อากาศ ปี 68: คาดการณ์และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ” จัดโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ณ ห้องบัญชาการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนฯ อว. ส่วนหน้า และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นางสาวสุชาดา กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากปี 2568 ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายด้านทรัพยากรน้ำและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการน้ำจึงต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และเชื่อถือได้ ซึ่งระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติที่พัฒนาโดย สสน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลน้ำระดับประเทศ

พร้อมกันนี้ รมว.อว. ได้มอบหมายให้เน้นย้ำนโยบายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบข้อมูลเพื่อการคาดการณ์สถานการณ์น้ำที่แม่นยำ ครอบคลุม และตอบสนองความต้องการในระดับพื้นที่ 2. การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการทำงานกับ “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์” เพื่อให้เกิดการตอบสนองที่รวดเร็วและครอบคลุมทุกภูมิภาค และ 3. การถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาบุคลากร เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะการใช้ข้อมูลน้ำในงานวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. เปิดเผยผลการคาดการณ์ปริมาณฝนปี 2568 ว่า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากกว่าปกติประมาณร้อยละ 9 โดยมีลักษณะใกล้เคียงกับปี 2542 ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีฝนมากกว่าปกติ ยกเว้นบางพื้นที่ในภาคเหนือ ด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช อาจจะมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ

สำหรับคาดการณ์สถานการณ์ฝนในปี 2568 ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมจะมีฝนตกตามปกติและมีโอกาสเกิดฝนตกหนักในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้บางแห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานตอนล่างอาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และอาจเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ก่อนที่ฝนจะกลับมาตกในช่วงปลายเดือนกันยายน หลังจากนั้นช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ฝนจะตกหนักมากกว่าค่าปกติ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในบางแห่ง

“เราสามารถติดตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมาแบบนี้ได้ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เช่น เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หรือ อว. ส่วนหน้า หากเรารู้ทันถึงสภาพอากาศและเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เราจะพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุทกภัยหรือภัยแล้งก็ตาม” ดร.รอยบุญ กล่าว

ทั้งนี้ สสน. ได้พัฒนาระบบติดตามสถานการณ์น้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaiwater.net และแอปพลิเคชัน ThaiWater สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ Android และ iOS โดยมีข้อมูลสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และคาดการณ์ฝนล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้วางแผนและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวอื่นๆ