พระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียง

รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:33, 7 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 

พระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชจริยวัตรที่พอเพียงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสอนพระโอรสธิดาให้ทรงใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างสามัญชน ทั้งความสนุกสนานจากการทรงเล่นตามวัยและการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจในการดำรงชีวิต เช่น เป็นคนดี มีความรับผิดชอบต่อตนเอง มัธยัสถ์อดออม ใฝ่หาความรู้ รู้จักแบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่น
061009-พอเพียง2.jpg
ตัวอย่างเฉพาะเรื่องความมัธยัสถ์ เช่น จะไม่ทรงซื้อของเล่นที่มีราคาสูงกว่าทรัพย์ที่มี ทรงอดออมเก็บเงินที่เหลือจากค่าขนมเพื่อนำไปซื้อของเล่นที่มีพระราชประสงค์ เสวยแยมที่ทำเองจากผลไม้ ทรงขี่จักรยานไปโรงเรียนแทนการเสด็จพระราชดำเนินไปโดยรถยนต์พระที่นั่ง นอกจากนั้น ยังทรงเห็นความสำคัญของส่วนรวม อันเป็นเข็มทิศนำทางในการดำเนินพระราชภารกิจยามเจริญพระชันษา ที่เป็นเส้นทางสู่ดวงใจของอาณาประชาราษฎร์ทั้งแผ่นดิน ด้วยพระวิริยอุตสาหะหลอมรวมการปลูกฝังอบรมและสรรพวิชาความรู้ ทรงค้นหาหนทางที่จะเยียวยาให้พสกนิกรได้อยู่ดีมีสุขโดยทั่วหน้ากัน

เมื่อเจริญพระชนมพรรษา พระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียง พอประมาณ มีเหตุมีผล เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินพระชนมชีพของพระองค์ ดังจะเห็นได้จากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นการส่วนพระองค์ ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยพระธำมรงค์องค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายดังเช่นคู่สมรสทั่วไปและทรงจัดงานเลี้ยงฉลองเป็นการภายในระหว่างพระญาติสนิทและข้าราชบริพารใกล้ชิด ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับความสำคัญของการดำเนินชีวิตอย่างประหยัดแก่ประชาชนชาวไทย ดังพระราชดำรัสเมื่อต้นรัชกาลความตอนหนึ่งที่ว่า

"...ในภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะได้กล่าวถึงความสำคัญของการประหยัด ซึ่งรัฐบาลได้ชักชวนให้แต่ละคนปฏิบัติ คงจะได้ตระหนักอยู่แล้วทั่วกันว่า การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้นจะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย..."

กระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ๒๕๐๓ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนับเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างอันประเสริฐต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยทุกคน เช่น ทรงฉลองพระองค์และรองพระบาทราคาไม่แพง ไม่โปรดการตัดฉลองพระองค์ใหม่อย่างฟุ่มเฟือย แต่ละองค์ทรงใช้งาน ๕ - ๖ ปี ส่วนองค์เก่าที่สุดทรงใช้ถึง ฉ๒ ปี ฉลองพระบาทที่ชำรุดทรงส่งซ่อมแซมและทรงใช้ได้อีกนานเป็น ๑๐ ปี ทรงใช้แปรงสีพระทนต์รีดหลอดยาสีพระทนต์จนแบนเรียบ มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งมหาดเล็กได้นำหลอดยาสีพระทนต์หลอดใหม่มาเปลี่ยนถวาย ทรงให้นำหลอดเก่ากลับคืนมาและทรงใช้ได้อีกถึง ๕ วัน

ยามปฏิบัติพระราชภารกิจ สิ่งที่ติดพระองค์ตลอดเวลา คือ ดินสอ กล้องถ่ายรูป แผนที่ และวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการทรงงาน เช่น ดินสอไม้ราคาไม่แพง มียางลบอยู่ตรงปลายดินสอ เพื่อลบคำที่เขียนผิดออกได้ง่าย ไม่เปลืองกระดาษเหมือนใช้ปากกา ทรงเหลาดินสอด้วยพระองค์เองและเหน็บไว้ที่กระเป๋าฉลองพระองค์เดือนละหนึ่งแท่งใช้จนกุดสั้น ทรงถ่ายรูปจนสุดม้วนฟิล์มแม้ในยามน้ำมันมีราคาสูง พระองค์ทรงเลือกยานพาหนะที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล นอกจากนั้น การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจำนวนมากล้วนอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจพอเพียงนี้

พระราชจริยวัตรแห่งความพอเพียงนี้นับเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ชาวไทย