ทรงพระผนวช

ทรงพระผนวช

พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์นับแต่อดีตกาลล้วนแต่ทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนาทุกพระองค์ ส่วนใหญ่จะทรงพระผนวชก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระผนวชภายหลัง เนื่องจากเสด็จขึ้นครองราชย์ขณะพระชนมพรรษายังน้อย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็เช่นเดียวกัน เพื่อสืบทอดโบราณราชประเพณีเจริญรอยตามสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชและด้วยพระราชศรัทธาส่วนพระองค์ต่อพระบวรพุทธศาสนา จึงเสด็จออกทรงพระผนวชเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ ประกอบพระราชพิธี ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์(๑) เป็นพระอุปัชฌาจารย์ แล้วเสด็จไปประทับเพื่อปฏิบัติสมณวัตร ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร จนถึงวันที่ ๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ จึงทรงลาพระผนวช รวมเวลาในสมณเพศ ๑๕ วัน เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต

ในการทรงพระผนวชดังกล่าวนั้น ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อปฏิบัติพระราชกรณียกิจในช่วงเวลา ๑๕ วันที่ยังดำรงสมณเพศอยู่และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างสมบูรณ์เป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังนั้นเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ” นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ หลังจากทรงประกอบพิธีเฉลิมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งปรับปรุงแล้วเสร็จ ทรงย้ายที่ประทับจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตไปประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นที่ประทับถาวร

ทรงพระผนวชเพื่อเข้าถึงแก่นแท้แห่งธรรม

การเสด็จออกทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ นับเป็นการสะท้อนว่าทรงป็นพุทธมามกะซึ่งเปี่ยมด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจนดังพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จออกทรงพระผนวช วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙ ความตอนหนึ่งว่า

“...โดยที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของเรา ทั้งตามความศรัทธาเชื่อมั่นของข้าพเจ้าเอง ก็เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง เนื่องในบรรดาสัจจธรรมคำสั่งสอนอันชอบด้วยเหตุผล จึ่งเคยคิดอยู่ว่าถ้าโอกาสอำนวยข้าพเจ้าควรจักได้บวชสักเวลาหนึ่งตามราชประเพณี ซึ่งจักเป็นทางสนองพระเดชพระคุณพระราชบูรพการีตามคตินิยมด้วย...”

ตลอดระยะเวลา ๑๕ วันแห่งการทรงพระผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระฉายาว่า "ภูมิพโลภิกขุ" พระองค์ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ทั้งการทรงลงโบสถ์ ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น ทรงสดับพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะ ทรงศึกษาพระธรรมวินัยร่วมกับภิกษุสามเณรในพระอารามและตามที่พระราชอุปัชยาจารย์จัดถวาย ไม่มีบกพร่องจนถึงวันสุดท้ายที่ทรงลาสิกขา

๑พระนามเดิม ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์ ณ กรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศเฉลิมพระนามสมเด็จพระสังฆราชเจ้าให้เต็มพระเกียรติยศตามราชประเพณี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประกาศสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๙