การทำฝนจากเมฆเย็น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้มีการวิจัยและพัฒนาการทำฝนจากเมฆเย็น
ได้พระราชทานแนวคิดแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เมื่อ พ.ศ. 2515 ให้หาลู่ทางวิจัยและประดิษฐ์เครื่องยิงสารเคมีจากเครื่องบินแบบที่ไม่มีระบบปรับความดันต่อจากระดับบิน 10,000 ฟุต ให้สูงเข้าไปในส่วนของเมฆเย็นดังกล่าว ให้เกิดฝนตกจากเมฆเย็นลงมาสมทบกับเมฆอุ่นเพื่อให้ปริมาณน้ำฝนในก้อนเมฆนั้นเพิ่มมากขึ้น ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงร่วมมือกับกรมสรรพาวุธทหารบกเริ่มลงมือทำการวิจัยประดิษฐ์เครื่องยิงสารเคมีจากเครื่องบินและจรวดจากทางพื้นดิน แต่หยุดกิจกรรมนี้เมื่อ พ.ศ.2516 เนื่องจากฝ่ายกรมสรรพาวุธทหารบกติดภารกิจเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงในขณะนั้นได้พยายามสานต่อพระราชดำรินี้ โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสภาวิจัยแห่งชาติ จัดตั้งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาจรวดฝนเทียมทำการวิจัยและประดิษฐ์จรวดต้นแบบขึ้นมาทำการยิงทดสอบและพัฒนาเพื่อให้สามารถยิงสารเคมีเข้าไประเบิดในเมฆที่ ทั้งระดับเมฆอุ่นและเมฆเย็น ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา การวิจัยและพัฒนาจรวดได้ก้าวหน้ามาตามลำดับจนถึงปี 2530 สามารถบรรจุสารเคมียิงเข้าไประเบิด ในเมฆอุ่นที่ระดับสูงเกินกว่าฐานเมฆได้ผลพอที่จะนำเข้าใช้ในปฏิบัติการจริงได้แล้วและกำลังพัฒนาขีดความสามารถให้เข้าไประเบิดที่ระดับสูงเกิน 10,000 ฟุตขึ้นไปจนถึงระดับเมฆเย็น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โครงการดำเนินการไปอย่างก้าวหน้าได้ระงับไปแล้วในปัจจุบัน
เครื่องบินเช่าแอโรคอมมานเดอร์ เป็นเครื่องบินวิจัยเมฆฟิสิกส์ในระยะแรกเริ่มการทดลองทำฝนจากเมฆเย็น
เครื่องบินวิจัยเมฆฟิสิกส์ (Beechcraft King air ; B-350) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อย่างไรก็ดี พระราชดำริดังกล่าวได้บรรลุผลสมพระราชประสงค์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว
ข้อมูลจาก สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร
ห้ามนำข้อมูลของเว็บไซต์นี้ ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร