การพัฒนาทางการเกษตร

1. การพัฒนามนุษย์ คุณภาพชีวิต
  • พุทธศักราช ๒๕๑๑ - ดอนขุนห้วย: เปลี่ยนดินรกร้างให้ชาวไร่

มีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าเนื้อที่ 2,540 ไร่ ให้กลุ่มชาวไร่จากนิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชรบุรี เข้าประกอบอาชีพภายใต้ โครงการพระราชประสงค์ ดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

  • พุธทศักราช ๒๕๑๒ - "ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวไทย"

ทรงตั้ง "โครงการหลวง" เพื่อแก้ปัญหาปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาซึ่งมีพฤติกรรม "ถางและเผา" โดยส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและถาวร โดยการปลูกพืชผักและไม้ดอกเมืองหนาวแทน (การแก้ปัญหายาเสพติด)

  • พุทธศักราช ๒๕๑๓ - หนองพลับ: พลิกฟื้นปฐพีสู่วิถีเกษตรกรรม

ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 65,000 ไร่ โดยส่งเสริมให้ราษฎรมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งพระราชทานคำแนะนำให้สร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร เมื่อฝนทิ้งช่วง


2. การพัฒนาการเกษตร
  • พุทธศักราช ๒๕๒๐ เกษตรขั้นบันได : บ้านผาปู่จอม จังหวัดเชียงใหม่

การจัดทำการเกษตรตามความลาดชันของไหล่เขา บ้านผาปู่จอม ตำบลแม่กืดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐

ขั้นบันได.jpg


3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ


สืบเนื่องจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้สามารถช่วยเหลือพึ่งตนเองได้ โดยวิธีการหนึ่งที่ทรงเห็นว่าการได้เรียนรู้ และพบเห็นด้วยประสบการณ์ของตนเองนั้น เป็นการสร้างการเรียนรู้ในการพัฒนาชนบท ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชดำริให้มี ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษา ค้นคว้าทดลอง วิจัย และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎร ที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ โดยเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิชาการ การค้นคว้า ทดลองและสาธิตทางด้านเกษตรกรรม เป็นระบบบริการเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (one stop services ) มีกิจกรรมด้านการศึกษาพัฒนาที่ต่อเนื่องและขยายผลที่เป็นความสำเร็จสู่เกษตรกร และชุมชนในภูมิภาคนั้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังเป็น “ต้นแบบ” ของการบริหารที่เป็นการรวมศูนย์ โดยนำเอาส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลากหลายหน่วยงาน มารวมไว้ ณ ที่แห่งเดียวและร่วมกันดำเนินงาน โดยมิได้มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของ เพื่อเป็นจุดบริการเบ็ดเสร็จให้แก่เกษตรกร ในการที่เกษตรกรจะนำไปเป็นต้นแบบ และเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังที่ได้มีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า

“...เป็นศูนย์ฯ หรือเป็นที่แห่งหนึ่งที่รวมการศึกษา เพื่อดูว่าทำอย่างไร จะพัฒนาได้ผล...”


“...ศูนย์ศึกษาฯนี้เป็นคล้ายๆ พิพิธภัณฑธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ใครๆ จะมาดูว่าทำอะไรกัน...”


“...ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านการเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหางานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียวกัน ซึ่งเป็นสองด้าน ก็หมายความถึงว่าสำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์...”




**ข้อมูลจาก หนังสือ ๘๐ ทศวรรษแห่งการพัฒนา จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ