รางวัลฯ-บรัสเซลส์ยูเรก้า

รางวัลระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รางวัลระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถได้เด่นชัดที่สุด ซึ่งเราจะอดกล่าวถึงไม่ได้ คือ รางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นในการจัดงาน บรัสเซลส์ ยูเรกา (Brussels Eureka) โดย The Belgian Chamber of Inventors ซึ่งเป็นสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองนักประดิษฐ์ของราชอาณาจักรเบลเยียม ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในยุโรป โดยทางคณะผู้จัดงานได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลแด่พระองค์ถึง 2 ปีติดต่อกัน คือ ในปี พ.ศ.2543 และปี พ.ศ.2544
รางวัลบรัสเซลส์ ยูเรก้า ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายทั้ง 2 ปีนี้ ได้แก่ ในปี พ.ศ.2543 สภาวิจัยแห่งชาติ ได้นำผลงาน “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ในพระองค์เข้าประกวดในสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม (Pollution Control - Environment) ปรากฏว่า ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการจัดงานว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งในการบำบัดน้ำเสีย
ในครั้งนั้น ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลรวมทั้งสิ้น 5 รางวัล คือ

1. เหรียญรางวัล Prix OMPI (Organisation Mondiale De La Propriete Intelietuelle) หรือรางวัลสิ่งประดิษฐ์ดีเด่นระดับโลก พร้อมประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 2,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

2. เหรียญรางวัล Gold Medal with Mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ และประกาศนียบัตรเกียรตินิยมจากบรัสเซลส์ ยูเรก้า ประจำปี พ.ศ.2543

3. ถ้วยรางวัล Grand Prix International (International Grand Prize) หรือรางวัลผลงานประดิษฐ์ดีเด่นสูงสุด

4.ถ้วยรางวัล Minister J.CHABERT (Minister of Economy of Brussels Capital Region) หรือรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์ดีเด่น

5. ถ้วยรางวัล Yugosiavia หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์

โดยในวันที่ 16 ก.พ. 2544 ณ ศาลาเริงใจ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติในขณะนั้น นำนายโยเซ ลอริโย (Mr.Jose Loriaux) ประธานองค์กรบรัสเซลส์ ยูเรก้า แห่งราชอาณาจักรเบลเยียม พร้อมด้วยคณะทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าว

สำหรับในปีถัดมา คือปี พ.ศ.2544 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คณะกรรมการจัดงานบรัสเซลส์ ยูเรก้า ได้เชิญประเทศไทยให้ร่วมจัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์อีกครั้งในงาน บรัสเซลส์ ยูเรก้า 2001 ระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย.2544 โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้จัดแสดงผลงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจำนวน 3 ชิ้น คือ ผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่ (The New Theory) ผลงานเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม (Palm Oil Formula) และผลงานเรื่องฝนหลวง (Royal Rain Making)


ในงานบรัสเซลส์ ยูเรกา 2001 นี้ก็อีกเช่นกัน ที่พระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในล้นเกล้าฯ ได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตานานาประเทศอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลถึง 5 รางวัล คือ

1.รางวัล D’Un Concept Nouveau de Development de la Thailande พร้อมถ้วยรางวัลทำด้วยเงิน โดยคณะกรรมการตัดสินได้ลงมติเห็นชอบทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเทิดพระเกียรติคุณเป็นกรณีพิเศษแด่ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทั้ง 3 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศไทย

2.รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้แก่ผลงานประดิษฐ์คิดค้น โครงการน้ำมันไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม

3.รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการทฤษฎีใหม่

4. รางวัล Gold medal with mention หรือรางวัลสรรเสริญพระอัจฉริยภาพแห่งการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมประกาศเกียรติคุณเทิดพระเกียรติให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้นโครงการฝนหลวง

5. ถ้วยรางวัล SPECIAL PRIX for His Majesty The King of Thailand พร้อมประกาศนียบัตร มอบให้ผลงานประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีใหม่ ปาล์มน้ำมัน ฝนหลวง และประกาศนียบัตร Honored Member of BACCI โดยเป็นรางวัลจาก Bulgarina American Chamber of Commercial and Industry (BACCI)

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลทั้ง 10 รางวัล จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาตินี้ จึงการันตีได้ถึงความเป็นนักประดิษฐ์และนักเทคโนโลยีในพระองค์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยหากสังเกตให้ดีแล้วจะพบว่า ผลงานแต่ละชิ้นในพระองค์ล้วนแล้วแต่เป็นการตอบโจทย์ปัญหาใกล้ตัว ซึ่งเรามักมองข้ามกันทั้งสิ้น เช่น การพัฒนากังหันน้ำชัยพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย เนื่องจากการขาดออกซิเจนในน้ำ และการพัฒนาไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงาน เป็นต้น
ยูเรก้า1.jpg

"กังหันน้ำชัยพัฒนา" ประดิษฐกรรมเพื่อการบำบัดและรักษาสิ่งแวดล้อม
ยูเรก้า2.jpg

โครงการพระราชดำริฝนหลวงที่มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่พสกนิกรของพระองค์
ยูเรก้า3.jpg

เหรียญรางวัลบรัสเซลส์ ยูเรก้า ประจำปี พ.ศ.2543 จากโครงการพระราชดำริฝนหลวง
ยูเรก้า4.jpg

โครงการพระราชดำริไบโอดีเซล สูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม เพื่อการแก้ปัญหาพลังงาน จุดอ่อนของประเทศไทย ในฐานะผู้บริโภคพลังงาน
ยูเรก้า5.jpg

โครงการพระราชดำริทฤษฎีใหม่ โดยทรงเป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียวในโลกที่ทรงทำนา เกี่ยวข้าว และมีที่นาในบ้านของพระองค์เอง