การแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุก

รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:13, 1 ตุลาคม 2552 โดย Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
 

ทรงสร้างการแพทย์และสาธารณสุขเชิงรุก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงพบว่าการดำเนินชีวิตของราษฎรส่วนใหญ่ยังขาดสุขอนามัยที่ดี เมื่อทอดพระเนตรเห็นผู้ป่วยที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ทรงให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จเข้าดูแลรักษาอาการอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ป่วยที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จเป็นจำนวนมากขึ้นเกินกว่ากำลังของแพทย์หลวงที่ตามเสด็จจะสามารถรักษาได้อย่างทั่วถึง จึงมีพระราชประสงค์ให้พัฒนารูปแบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเป็นเชิงรุก เพื่อให้แพทย์ได้เดินทางเข้าไปหาผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่ทุรกันดารห่างไกล หรือที่เส้นทางคมนาคมไม่สะดวก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โดยแบ่งลักษณะการดำเนินงานออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ หน่วยแพทย์หน้าวัง เปิดบริการตรวจรักษาแจกยาบริเวณหน้าเขตพระราชฐานที่ประทับในแต่ละภูมิภาค และหน่วยแพทย์ตามเสด็จ ซึ่งติดตามในขบวนเสด็จและทำการตรวจรักษาราษฎรเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

พุทธศักราช ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่บ้านปากทวารตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงพบว่าราษฎรที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นโรคไข้จับสั่นและมีโรคอื่นๆ เบียดเบียนอีกเป็นจำนวนมากซึ่งล้วนเป็นโรคที่สามารถดูแลรักษาให้หายได้ไม่ยาก จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยานพาหนะ และเวชภัณฑ์ แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปรักษาประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร เริ่มจากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เรียกว่า หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน

นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขยายหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานออกไปให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ในพุทธศักราช ๒๔๙๙ มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานหน่วยที่ ๒ ที่จังหวัดขอนแก่น ให้บริการตรวจรักษาโรคแก่ราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานหน่วยที่ ๓ ที่จังหวัดยะลา ให้บริการตรวจรักษาโรคแก่ราษฎรในภาคใต้

เรือเวชพาหน์
ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรบ้านเมืองโดยเรือยนต์พระที่นั่ง ทรงพบว่าบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง และลึกเข้าไปในชนบทห่างไกลซึ่งไม่มีทางหลวงเชื่อมต่อกับจังหวัด ยังไม่มีสถานพยาบาลตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง จึงได้พระราชทานเรือเวชพาหน์ในพุทธศักราช ๒๔๙๘ เพื่อบรรทุกเวชภัณฑ์ต่างๆ พร้อมทั้งแพทย์พยาบาล และอุปกรณ์ในการตรวจรักษาพยาบาลไปช่วยเหลือดูแล ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ จากกองบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยไปแจกจ่ายแก่ราษฎรได้อย่างกว้างขวางทั่วถึงขึ้น ทำให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวได้รับบริการทางการแพทย์ ตลอดจนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้สนองแนวพระราชดำริในระยะต่อมาด้วยการทำโครงการต่อเรือพยาบาลร่วมกับกองทัพเรือ คือ เรือ สธ.อันดามัน มีศักยภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลชุมชน รัศมีการให้บริการ ๕ จังหวัด คือ สตูล พังงา กระบี่ ระนอง และภูเก็ต

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโครงการด้านการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในเชิงรุกอีกเป็นจำนวนมากด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมีแพทย์อาสาจากโรงพยาบาลต่างๆ เข้าร่วมโครงการเพื่อตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บป่วย ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคำแนะนำแก่แพทย์ว่า นอกจากการรักษาอาการเจ็บป่วยเฉพาะทางแล้ว ควรดูแลรักษาความเจ็บป่วยด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน หากรักษาไม่ได้ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ซึ่งจะทำให้ราษฎรได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ รวมทั้งทรงให้ซักถามสภาพความเป็นอยู่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนเรื้อรังต้องได้รับการรักษาเป็นเวลานาน พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลและทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ รวมถึงทรงให้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์แก่แพทย์ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย อันเป็นการพัฒนาบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขไปพร้อมกัน นับเป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ประเทศชาติ

ตาราง โครงการด้านการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในเชิงรุกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นบางส่วน

พุทธศักราช โครงการ รายละเอียด
๒๕๑๓ หน่วยจักษุแพทย์พระราชทาน รักษาและผ่าตัดราษฎรที่เป็นโรคตา
๒๕๑๓ ทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน ประกอบด้วยรถทันตกรรมพระราชทานขนาดใหญ่ พร้อมเก้าอี้และอุปกรณ์การทำงานของทันตแพทย์และพยาบาลออกให้บริการด้านทันตกรรมแก่ราษฎร
๒๕๑๗ โครงการแพทย์พิเศษตามพระราชประสงค์ จัดส่งแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลในภูมิภาคนั้นๆ หมุนเวียนออกไปให้บริการตรวจรักษาโรค บรรเทาทุกข์แก่ราษฎรในพื้นที่ที่มีบริการด้านการแพทย์ยังไม่เพียงพอ เช่น หน่วยแพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลนราธิวาสและโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ออกรักษา
๒๕๑๘ โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จัดส่งศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านศัลยกรรม ไปร่วมปฏิบัติงานในโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร
๒๕๒๒ โครงการแพทย์หู คอ จมูก (โสต ศอ นาสิก) แพทย์อาสาสมัครจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลราชวิถี ผลัดเปลี่ยนกันไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลประจำจังหวัดนราธิวาส โรงพยาบาลประจำจังหวัดสกลนครและโรงพยาบาลค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่
๒๕๔๖ รถใส่ฟันเคลื่อนที่พระราชทาน เป็นรถใส่ฟันเคลื่อนที่คันแรกในประเทศไทย เพื่อให้บริการแก่ราษฎรสูงอายุ ผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสได้มีฟันไว้บดเคี้ยวอาหาร เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อไป

ที่มา: สาธารณสุขของแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๕๕๐ กระทรวงสาธารณสุข

แนวพระราชดำริที่ทรงพัฒนางานด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเชิงรุก ทำให้ราษฎรในทุกๆ พื้นที่ของประเทศที่อยู่ห่างไกลเส้นทางคมนาคม รวมถึงขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้รับการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพอนามัยอย่างดีและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ดูเพิ่มเติม เรือเวชพาหน์