ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สนพระราชหฤทัยใฝ่ศึกษา"
Haiiwiki (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: <div id="bg_g8"> <div id="bg_treeb"> <center><h1>พระราชจริยวัตร: สนพระราชหฤทัยใฝ่ศึกษา<...) |
(ไม่แตกต่าง)
|
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:12, 2 ตุลาคม 2552
พระราชจริยวัตร: สนพระราชหฤทัยใฝ่ศึกษา
นราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ ความตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่นสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำและปลูกป่า โดยทรงขุดดินเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ แล้วทรงจัดทำคลองและนำกิ่งไม้มาปักไว้ริมคลอง ทรงชอบอ่านตำรับตำราของพระพี่นางและทรงขอให้ประทานคำอธิบายในบางเรื่อง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษา ๕ พรรษา ทรงเข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพฯ จนถึงพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษายังต่างประเทศ ทรงศึกษาต่อ ในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน Miremont ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ จากนั้นในพุทธศักราช ๒๔๗๘ ทรงศึกษาต่อที่โรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romande ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่รับนักเรียนนานาชาติต่อมาจึงทรงศึกษาต่อที่โรงเรียน Gymnase Classique Cantonal
พุทธศักราช ๒๔๘๘ หลังจากทรงได้รับประกาศนียบัตร Bachelier es Lettres พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาต่อในแผนกวิทยาศาสตร์ (สาขาสหวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยโลซาน ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาที่ทรงสนพระราชหฤทัย แม้พระองค์ได้เปลี่ยนมาศึกษาในวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ในพุทธศักราช ๒๔๘๙ อันเป็นวิชาที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ แต่ก็ทรงใช้หลักทางวิทยาศาสตร์มาเป็นหลักในการทรงงานตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์กว่า ๖๐ ปี
จากที่ทรงได้รับการศึกษาในระบบส่วนใหญ่จากต่างประเทศ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีแนวพระราชดำริที่ลึกซึ้งและพัฒนาเป็นพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ ทรงเปรียบเสมือนนักศึกษาที่ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา ทรง “รับรู้” อย่างถ่องแท้ถึงปัญหาและสาเหตุความทุกข์ยากของประชาชนด้วยการทรงลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ตลอดจนทรงนำระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการเชื่อมต่อคลังข้อมูลมาช่วยเสริมในการประมวล เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการของพระองค์ จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์ความอยู่ดีกินดีแก่ประชาชนและการพัฒนาประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาและการเรียนรู้เป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการพัฒนาชีวิตมนุษย์ต่อเนื่องไปจนถึงการพัฒนาสังคมและประเทศชาติอันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การศึกษาในประเทศไทย จึงควรมีการพัฒนาทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต