ผลต่างระหว่างรุ่นของ "พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก"

(Wikipedia python library)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:53, 28 กันยายน 2552

ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศนั้น ได้ทรงพบและทรงคุ้นเคยกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร(๑) เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร(๒) ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประสบอุบัติเหตุรถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกที่ถนนเมืองมอนเนย์ ใกล้ทะเลสาบเยนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ ทรงเข้ารักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลมอร์เซล หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายการพยาบาลโดยตลอด ซึ่งต่อมาได้ทรงประกอบพิธีหมั้นเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒

เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยโดยเรือเดินสมุทรถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรตามโบราณราชประเพณี กำหนดถวายพระเพลิงในวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ต่อมาในวันที่ ๒๘ เมษายน ศกเดียวกันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ณ พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม ในการพระราชพิธีครั้งนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ิ”

เมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นระหว่างวันที่ ๓ - ๕ พฤษภาคม เพื่อดำรงสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ซึ่งนับเป็นพระราชสัตยาธิษฐานที่ทรงยึดมั่นและทรงปฏิบัติตลอดมาตราบจนปัจจุบัน และในโอกาสนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีิ”

หลังเสร็จการพระราชพิธีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ เพื่อทรงรักษาพระสุขภาพตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำไว้และระหว่างที่ประทับ ณ เมืองโลซานนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินี ได้มีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรกคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซาน เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๔ และเมื่อพระราชธิดาเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือนเศษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จนิวัตประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี และพระราชธิดา เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๔ ประทับณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้เหมาะสมแก่การเป็นที่ประทับถาวรโดยเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้มีพระประสูติกาลพระราชโอรสและพระราชธิดาอีก ๓ พระองค์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ๒๔๙๘ และ ๒๕๐๐ ตามลำดับ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


๑ ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พุทธศักราช ๒๔๙๓ และเป็นพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ๒ เดิมอยู่ในราชสกุลสนิทวงศ์ ณ อยุธยา