ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ความสำคัญของทรัพยากรดิน"

(สร้างหน้าใหม่: '''ความสำคัญของทรัพยากรดิน : ดินรากฐานกสิกรรมไทย''' <div class="kindent"...)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:59, 10 เมษายน 2551

ความสำคัญของทรัพยากรดิน : ดินรากฐานกสิกรรมไทย

ถ้าจะเปรียบดินเหมือนกับมนุษย์ตนหนึ่ง มีลำตัว มีแขน มีขา มีหัวใจ ดินก็มีส่วนประกอบสำคัญเปรียบได้กับมนุษย์ มีแร่ธาตุเปรียบได้กับลำตัว มีอากาศเปรียบได้กับแขน มีน้ำเปรียบได้กับขา มีอินทรียวัตถุเปรียบได้กับหัว มีสิ่งมีชีวิตในดินเปรียบได้กับหัวใจที่จะทำให้ดินมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต จึงต้องการอาหาร ต้องการอากาศ ต้องการน้ำ ไปสร้างสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น สัตว์ และพืช สิ่งที่ทุกคนมองข้ามคือ สภาวะแวดล้อมมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ตามหลักปฐพีวิทยา (Pedology) ดินหมายถึงวัตถุธรรมชาติที่เกิดปกคลุมผิวโลก มีการจัดเรียงชั้นดิน (Soil profile) ตามธรรมชาติเกิดมาจากการสลายตัวผุพังของดินและอินทรียวัตถุ ถ้ามีแร่ธาตุอาหาร อากาศ และน้ำเหมาะสมพืชจะสามารถเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลได้เป็นอย่างดี

ดินในโลกมีมากมายนับหลายหมื่นชนิด สำหรับในประเทศไทยมีดินไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะทางเคมีและกายภาพที่สามารถระบุได้ตามหลักวิทยาศาสตร์แตกต่างกันไป บางชนิดก็มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำการเกษตร บางชนิดก็เป็นดินที่มีปัญหาและมีข้อจำกัดต่างๆ ในการนำมาใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งมีประชากรที่ทำมาหากินในภาคเกษตรไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านคน และใช้พื้นที่ทำการเกษตรไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๒ ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ดังนั้น ปัญหาเรื่องการผลิตและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินที่ใช้กันมานานจึงเป็นปัญหาที่จะต้องมีการจัดการที่เหมาะสม โดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ


ปัญหาทรัพยากรดินในประเทศไทย


ปัญหาทางกายภาพ ได้แก่

๑ ความเสื่อมโทรมของดิน : ความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยธรรมชาติต่ำ เนื่องจากวัตถุต้นกำเนิดดินมีแร่ธาตุอาหารพืชเป็นองค์ประกอบต่ำ ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในเขตที่มีฝนตกชุก แร่ธาตุต่างๆ เปลี่ยนสภาพและถูกชะล้างไปกับน้ำได้รวดเร็ว อีกทั้งพื้นที่ที่ทำการเกษตรกรรมถูกใช้มาเป็นเวลานานโดยไม่มีการบำรุงรักษา ดังนี้

๑.๑ การปลูกพืชติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่บำรุงดิน จะทำให้ธาตุอาหารตามระดับความลึกของรากพืชถูกนำไปใช้มากจนดินเสื่อมความสมบูรณ์

๑.๒ การปลูกพืชทำลายดิน พืชบางชนิดเติบโตเร็ว ใช้ธาตุอาหารพืชจำนวนมากเพื่อสร้างผลผลิต ทำให้ดินสูญเสียความสมบูรณ์ได้ง่าย เช่น ยูคาลิปตัส และมันสำปะหลัง

๑.๓ ธาตุอาหารพืชถูกทำลาย หรืออยู่ในสภาพที่พืชใช้ประโยชน์น้อย เช่น เมื่อเกิดไฟไหม้ป่า ฮิวมัสจะถูกความร้อนทำลายได้ง่าย หรือเมื่อดินเปลี่ยนสภาพไปเป็นกรด (acid) หรือด่าง (alkaline) จะทำให้พืชดูดธาตุอาหารบางชนิดไปใช้ประโยชน์ไม่ได้

เมื่อดินเสื่อมคุณค่า ก็จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงเสียค่าปุ๋ยเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศก็จะกระทบกระเทือนไปด้วย เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม


๒. ดินมีปัญหาพิเศษไม่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ ใช้ปลูกพืชได้ไม่ดีหรือปลูกไม่ได้เลย ได้แก่


๒.๑ ดินทรายจัด (Sandy soil) มีทรายปนอยู่หนากว่า ๕๐ เซนติเมตร พบตามที่ดอนในภาคอีสานและชายฝั่งทะเล ทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ ไม่เหมาะต่อการปลูกพืช แต่ถ้ามีฝนตกชุกก็พอปลูกพืชที่มีความทนทานได้ เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง และหญ้าเลี้ยงสัตว์

๒.๒ ดินตื้น (Shallow soil) หน้าดินมีเนื้อดินน้อยเนื่องจากมีลูกรักกรวด และหินปูนอยู่ในระดับที่ตื้นกว่า ๕๐ เซนติเมตร พบมากกว่าดินชนิดอื่น คือ มีรวมกันทุกภาคกว่า ๕๐ ล้านไร่ ควรใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อเพิ่มเนื้อที่ป่า

๒.๓ ดินเค็ม (Saline soil) เป็นดินที่น้ำทะเลท่วมถึง หรือมีหินเกลืออยู่ใต้ดินซึ่งพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากถึง ๑๗.๕ ล้านไร่ ในปัจจุบันมีความต้องการใช้เกลือสินเธาว์ในอุตสาหกรรมการผลิตโซาดแอช แก้ว เคมีภัณฑ์ กรด และกระจก จึงมีการทำนาเกลือกันมากซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อพื้นที่เพาะปลูกได้กว้างขวางขึ้น
๒.๔ ดินเป็นกรดจัดหรือดินเปรี้ยว (Acid soil) มีพื้นที่ประมาณ ๙ ล้านไร่ เป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลแถบกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครนายก ปทุมธานี อยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม ๖ ล้านไร่ ที่เหลือพบในภาคตะวันออกและภาคใต้ มักมีสารประกอบของไพไรต์ (pyrite) ผสมอยู่มาก เมื่อระบายน้ำ หรือทำให้ดินแห้ง และอากาศถ่ายเทดี ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นกรดกำมะถัน
๒.๕ ดินอินทรีย์ หรือดินพรุ (Organic soil) เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังทับถมกันนับพันปีของพืชพรรณตามที่ลุ่มมีน้ำขัง สีน้ำตาลแดงคล้ำจนถึงดำ มีอินทรียวัตถุมากกว่าร้อยละ ๒๐ จึงมีฤทธิเป็นกรดจัด ชั้นล่างเป็นดินเหนียว พบมากในภาคใต้ เฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส มีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่
๒.๖ ดินที่ลาดชันมาก (Steep slope) จะชันมากกว่าร้อยละ ๓๕ มีประมาณ ๑๐๐ ล้านไร่ (มีชัย, ๒๕๓๕) มักเป็นภูเขาซึ่งไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร (ปกติพื้นที่ที่ลาดชันเกินร้อยละ ๑๕ จะไม่ใช้ปลูกพืชเพราะดินจะพังได้ง่าย และไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงาน)
๒.๗ ดินที่ชุ่มน้ำหรือที่ลุ่มน้ำขัง (Wetland) จะมีน้ำขังอยู่เป็นเวลานาน หรืออาจขังทั้งปี จึงใช้ปลูกพืชได้เฉพาะริมฝั่งเท่านั้น เช่น ทะเลสาบสงขลา บึงบอระเพ็ด และกว๊านพะเยา

๒.๘ ดินเป็นพิษ (Toxic soil) เพราะเกิดการสะสมของสารพิษจาการทิ้งของเสีย ขยะที่มีสารพิษ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มผลผลิต และสารกัมมันตรังสีจากการทดลอง หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม


๓. สภาพภูมิอากาศไม่อำนวย เนื่องจากการเพาะปลูกส่วนใหญ่ในประเทศเรา ก็ยังอาศัยน้ำฝนธรรมชาติเป็นหลัก (Rainfed Cultivation) ช่วงการกระจายของฝนไม่สม่ำเสมอ ทำให้พืชที่ปลูกได้รับผลกระทบกระเทือน หรือเสียหายเนื่องจากฝนตกมากเกินไป หรือฝนทิ้งช่วงทำให้พืชขาดแคลนน้ำได้
๔. การชะล้างพังทลายของดิน ทำให้ดินเสื่อโทรมรุนแรงที่สุด และเป็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องแก้ไข เพื่อรักษาคุณภาพของดินให้เหมาะสม และให้ใช้ประโยชน์ได้เป็นเวลานานๆ การชะล้างพังทลายของดินในประเทศไทยที่ต้องการดูแล ป้องกันและรักษาไว้มีจำนวนมากถึง ๑๓๔.๕๔ ล้านไร่ หรือเท่ากับ ๔๑.๙๕% พื้นที่ทั้งหมดของประเทศ