ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ฝายชะลอความชุ่มชื้น-การสร้าง"

(Wikipedia python library)
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:45, 9 เมษายน 2551

ฝายต้นน้ำ

ฝายต้นน้ำ หรือฝายต้นน้ำลำธาร หรือฝายกั้นน้ำ หรือฝายแม้ว หรือฝายชะลอความชุ่มชื้น คือสิ่งเดียวกัน เรียกด้วยภาษาอังกฤษว่า Check Dam คือ สิ่งก่อสร้างขวาง หรือกั้นทางเดินของลำน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วย ลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำหรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่างซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้มากวิธีการหนึ่ง


ประโยชน์ของฝายต้นน้ำ

  • ช่วยลดความรุนแรงของการเกิดไฟป่า เนื่องจากการกระจายความชุ่มชื้นมากขึ้น สร้างระบบการควบคุมไฟป่า ด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก (Wet Fire Break)
  • ช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วย ทำให้ระยะเวลาการไหลของน้ำเพิ่มมากขึ้น ความชุ่มชื้นมีเพิ่มขึ้นและแผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปเป็นวงกว้างในพื้นที่ทั้งสองฝั่งของลำห้วย
  • ช่วยกับเก็บตะกอนและวัสดุต่างๆ ที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการช่วยยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง คุณภาพของน้ำมีตะกอนปะปนน้อยลง
  • ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางด้านชีวภาพให้แก่พื้นที่
  • ทำให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของมนุษย์ และสัตว์ป่าต่างๆ ตลอดจนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรกรรมอีกด้วย

รูปแบบและลักษณะของฝายต้นน้ำ

จากแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นเพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ สามารถกระทำได้ ๓ รูปแบบ คือ

แบบท้องถิ่นเบื้องต้น เป็นการก่อสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น กิ่งไม้ และท่อนไม้ล้มขอนนอนไพร ขนาบด้วยก้อนหินขนาดต่างๆ ในลำห้วยเป็นการก่อสร้างแบบง่ายๆ ก่อสร้างในบริเวณตอนบนของลำห้วยหรือร่องน้ำ ซึ่งสามารถดักตะกอน ชะลอการไหลของน้ำ และเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณฝายได้เป็นอย่างดี วิธีนี้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยมาก หรืออาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย นอกจากแรงงานเท่านั้น

แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร ก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ ก่อสร้างบริเวณตอนกลาง และตอนล่างลำห้วยหรือร่องน้ำ จะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้งได้เป็นบางส่วน

แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวรส่วนมากจะดำเนินการบริเวณตอนปลายของลำห้วย หรือร่องน้ำจะสามารถดักตะกอน และเก็บกักน้ำในฤดูแล้งได้ดี ค่าก่อสร้างจะมีราคาค่อนข้างสูงกว่าแบบอื่นๆ


ขั้นตอนการสร้างฝายต้นน้ำ

*การเลือกที่สร้างฝายต้นน้ำ

การเลือกทำเลสำหรับสร้างฝายต้นน้ำ ควรพิจารณาเลือกให้เหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

๑ ที่สร้างฝาย ควรจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเป็นแหล่งกักเก็บน้ำบริเวณด้านหน้าฝายได้พอสมควร

๒ บริเวณที่สร้างฝาย ควรมีตลิ่งของลำน้ำทางด้านข้างของตัวฝายสูงมากพอที่จะไม่ทำให้น้ำไหลท่วมและกัดเซาะเป็นร่องน้ำได้ ๓ ควรสร้างในบริเวณลำห้วยที่มีความลาดชันต่ำและแคบ เพื่อจะได้เป็นฝายในขนาดที่ไม่เล็กเกินไป อีกทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำและตะกอนได้มากพอควร สำหรับลำห้วยที่มีความลาดชันสูงก็ควรสร้างฝายให้ถี่ขึ้น ๔ ควรสำรวจสภาพพื้นที่ วัสดุก่อสร้างตามธรรมชาติและรูปแบบฝายที่เหมาะสมกับภูมิประเทศมากที่สุด เช่น ควรพิจารณาสร้างฝานต้นน้ำแบบท้องถิ่นเบื้องต้นในตอนบนของพื้นที่ป่าหรือลำห้วยสาขา สำหรับตอนกลางหรือตอนล่างของพื้นที่ซึ่งเป็นลำห้วยหลัก ก็ควรจะกำหนดเป็นฝายแบบกึ่งถาวรหรือฝายแบบถาวร ๕ ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงให้มากพอที่จะไม่เกิดการพังทลายเสียหายกรณีฝนตกหนักและกระแสน้ำไหลแรง จากประสบการณ์พบว่า การเลือกทำเลที่สร้างฝายบริเวณที่ผ่านโค้งของลำห้วยมาเล็กน้อย หรือบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่หรือกอไผ่อยู่บริเวณริมห้วยจะเสริมให้ฝายมีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ไม่เกิดการพัลทลายได้ง่าย ๖ ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือฝายต้นน้ำมิได้มีหน้าที่เป็นฝายทดน้ำเพื่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก ดังนั้น จุดที่จะสร้างฝายต้นน้ำจึงควรเป็นลำห้วยที่มิได้มีน้ำไหลตลอดปี สภาพป่ามีความแห้งแล้ง ซึ่งจะต้องฟื้นฟูให้เกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ต่อไป ๗ การเลือกจุดที่ก่อสร้างฝายต้นน้ำ ปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึง คือ ประโยชน์ที่จะได้รับจากฝาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำ ด้านการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ ด้านนิเวศวิทยา ตลอดจนด้านชุมชน นอกจากนี้การกำหนดพื้นที่จะก่อสร้างต้องขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ความจำเป็น และความเหมาะสมอื่นๆ อีกด้วย


การสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ

เมื่อเลือกทำเลที่จะสร้างฝายต้นน้ำได้เรียบร้อยจนพร้อมที่จะเริ่มงานออกแบบ และทำการก่อสร้างต่อไปได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ควรจะต้องทำการสำรวจรายละเอียดสำหรับใช้ประกอบการออกแบบและประมาณราคางาน รายละเอียดภูมิประเทศที่สำคัญได้แก่ ระดับแสดงความสูงต่ำของพื้นที่ต้นน้ำตามแนวฝายและบริเวณที่จะสร้างฝาย ซึ่งควรจะทำการสำรวจแล้วเขียนแผ่นที่แสดงด้วย ในแผนที่ดังกล่าวควรจะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวและรูปร่างของทางน้ำในบริเวณที่จะสร้างฝายให้ชัดเจน วิธีการสำรวจและการจัดทำแผนที่สามารถดำเนินการได้ดังนี้

๑ เครื่องมือสำรวจที่จำเป็นได้แก่ โซ่หรือเทปสำหรับวัดระยะทาง กล้องส่องระดับหรือกล้องส่งระดับมือ ไม้แสดงระยะสำหรับใช้ส่องระดับ และเข็มทิศ

๒ การสำรวจบริเวณที่สร้างฝาย จะเริ่มด้วยการสร้างหมุดหลักฐานสองหมุดไว้ที่สองฟากของลำน้ำ พร้อมทั้งกำหนดค่าระดับสมมุติที่หมุดหนึ่ง หาค่าระดับ แนว และระยะของอีกหมุดหนึ่ง เพื่อใช้ในการสำรวจต่อไปเช่นกัน
การสำรวจรายละเอียดบริเวณที่สร้างฝายที่สำคัญ ได้แก่ การสำรวจแนวและความกว้างของลำน้ำ และระดับความสูงต่ำของพื้นดินจากตลิ่งทั้งสองฝั่งลงมาจนถึงท้องลำน้ำ

ในการสำรวจฝายต้นน้ำ ฝายแบบท้องถิ่นเบื้องต้นนั้นอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนแผนที่บริเวณที่ก่อสร้างหรือระดับ อาจใช้การเดินสำรวจลำห้วยหรือร่องน้ำโดยราษฎรแล้วทำแผนที่ลำห้วยบริเวณร่องน้ำ (Mapping) แบบง่ายๆ แล้วกำหนดจุดที่จะสร้างฝาย เพื่อให้ทราบตำแหน่งของตัวฝาย ความกว้างและความสูงของฝาย เนื่องจากฝายรูปแบบนี้จะก่อสร้างแบบง่ายๆ ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ จึงไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องการออกแบบมากนัก จะเน้นเฉพาะการก่อสร้างให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงเป็นหลัก สำหรับรูปแบบฝายที่ค่อนข้างถาวรและฝายแบบถาวร ซึ่งจะต้องนำผลการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศไปประกอบการคำนวณออกแบบ

หลังจากที่ได้มีการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทสบริเวณที่จะก่อสร้างฝายต้นน้ำแล้ว ควรทำการศึกษาสภาพฐานรากของท้องลำห้วยหรือร่องน้ำว่าตัวฝายอยู่บนฐานรากลักษณะใด การออกแบบโดยทั่วไปจะต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของตัวฝาย สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานให้มากที่สุด โดยเฉพาะฝายต้นน้ำแบบท้องถิ่น เบื้องต้นถึงแม้จะไม่มีการออกแบบตามหลักวิชาการ ก็ควรจะมีการกำหนดวิธีการก่อสร้างให้สามารถใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้การออกแบบฝายจึงต้องมีการดำเนินงานอย่างละเอียดรอบคอบ ให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานได้มากที่สุดและมีความประหยัดเป็นหลักเสมอ

การออกแบบเพื่อกำหนดขนาดของฝาย ไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน แต่ให้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

๑ พื้นที่รับน้ำของแต่ละห้วย/ฝาย

๒ ความลาดชันของพื้นที่

๓ สภาพของต้นน้ำและการชะล้างพังทลายของดิน

๔ ปริมาณน้ำฝน

๕ ความกว้างลึกของลำห้วย

๖ แหล่งวัสดุตามธรรมชาติ

๗ วัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง


การประมาณราคา

ราคาก่อสร้างงานต่างๆ จะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะต้องจัดหามาใช้งาน การประมาณค่าก่อสร้างให้ถูกต้องและใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริงนั้น จะต้องอาศัยประสบการณ์และต้องทราบหรือเข้าใจถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง รวมทั้งจะต้องพิจารณาถึงขั้นตอนว่าจะดำเนินการอย่างไร ผู้ก่อสร้างจะสามารถควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ได้ใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด ฤดูกาลขณะที่จะทำการก่อสร้างจะเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างมากน้อยอย่างไร อัตราค่าแรง ค่าใช้จ่ายของช่างและผู้ควบคุฒงานตลอดจนราคาวัสดุที่จะซื้อ รวมทั้งค่าขนส่งที่นำมาบริเวณก่อสร้าง ความสามารถในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานแต่ละคนและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือที่จะใช้ทำงานอย่างละเอียด ซึ่งเมื่อได้คำนวณปริมาตรงานต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้วก็จะทราบค่าก่อสร้างของงานแต่ละประเภทนั้นได้


การขยายผลตามแนวพระราชดำเริ

ความสมบูรณ์ของป่าจะยังคงอยู่ได้ก็ด้วยการดูแลรักษาซึ่งในอดีตเกิดการบุกรุกทำลายป่า ตัดไม้ การทำไร่เลื่อนลอย ได้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ การชะล้างพังทลายของหน้าดินที่ขาดพืชปกคลุม เมื่อฝนตกลงมาการไหลบ่าของน้ำฝนปริมาณมากไม่มีสิ่งใดมากั้นชะลอเอาไว้ ผิวหน้าดินซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารที่สมบูรณ์ ก็จะถูกน้ำฝนกัดเซาะพังทลายอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลให้ราษฎรเดือดร้อน รายได้น้อยลง คุณภาพชีวิตต่ำลง ดังนั้น ชาวบ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปางได้คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาพื้นที่ผืนป่าด้วยแนวพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทำฝายชะลอความชุ่มชื้น ดังที่ แก้ว ถาวรวรรณ ราษฎรบ้านโป่งน้ำร้อนเล่าให้ฟังว่า "เรานำแนวพระราชดำริของในหลวงมาทำที่นี่แล้วผลมันส่งขยายไปทั้งประเทส คิดดูซิว่า จากลำน้ำแม่เสริม ลงสู่แม่น้ำวัง จากน้ำวังลงสู่เจ้าพระยา ทีนี้เราคิดว่าน้ำวังสายนี้เป็นน้ำที่สะอาด เป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน ไม่มีขยะลง ผลก็สู่พี่น้องชายไทย ก็คิดอย่างนี้ครับ สภาพป่าของเราก็ยังเต็มกว่า แต่ว่าเราไม่มีน้ำ แต่ของเขามีน้ำ ไฟไม่ไหม้ป่า มีการรักษาป่าที่ดี เมื่อกลับมาก็ช่วยกันสร้างฝายเพราะว่าอยากจะให้มีน้ำโดยใช้ไม้ และของที่หาได้จากป่าทั้งนั้น ไม่ต้องลงทุนเพียงแต่ลงแรงทเท่านั้นก็ทำให้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมากไม่ต้องตัดไม้ สัตว์ในป่าก็เพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการทำงานอย่างมาก เราได้ผลเกินคาด ซึ่งในการปลูกป่านั้นต้องให้ชาวบ้านปลูกป่าในหัวใจของชาวบ้านเสียก่อนจึงจะเกิดผลดี"

อุปกรณ์ที่ใช้ทำฝายที่สำคัญๆ ประกอบด้วย ไม้ท่อนหรือไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔-๖ นิ้ว ไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ นิ้ว ทราย หิน กิ่งไม้ ใบไม้ในพื้นที่ วิธีการดำเนินการโดยสำรวจ และคัดพื้นที่ตอกหลัก ไม้ท่อนหรือไม้ไผ่ขวางลำห้วย ระยะห่างประมาณ ๑๕-๒๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓-๔ เมตร นำไม้ไผ่ผ่าครึ่งนำมาวางด้านหน้าหลักไม้ไผ่ท่อนที่ตอกลงไป ตั้งแต่ด้านหลังของตัวฝายขึ้นไปเรื่อยถึงหน้าฝาย นำเศษไม้ ใบไม้ ทราย หรือวัสดุที่หาได้ในบริเวณนั้นมาใส่ตามช่องระหว่างไม้ไผ่ผ่าตั้งแต่หลังฝายถึงหน้าฝาย

สภาพพื้นที่บ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอเสริมงาม เป็นเพียงตัวอย่างที่ได้นำแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้ ซึ่งในปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่เป็นที่อาศัยพักพิง และดำรงชีพบนผืนป่าแห่งนี้ด้วยการหาของป่า และพืชพรรณธัญญาหารนานาชนิด ซึ่งยังคงให้ความสมบูรณ์ และหล่อเลี้ยงชีวิตให้แก่ราษฎรได้ยังชีพ และสิ่งที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นยังสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างพอมีพอกิน ไม่ร่ำรวยแต่มีความยั่งยืนเปี่ยมด้วยกำลังใจเพราะพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงนำวิถีทางแห่งการหลุดพ้นจากความเดือดร้อนแห้งแล้งกันดาร สร้างความร่มเย็นและเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ดังเดิม ทุกชีวิตได้อาศัยร่มเงา
[[หมวดหมู่:พระราชกรณียกิจ]