ความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

06/05/2020

  1. ความเป็นมา

ในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา จีนมีพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีการแพทย์และการสาธารณสุข เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน พลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีรถไฟและระบบราง เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมแปรรูปสมัยใหม่

ในปี 2558 รัฐบาลจีนประกาศแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เพื่อบรรลุนโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งกำหนดทิศทางการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศจีนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ 2) หุ่นยนต์และเครื่องจักรกลควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์อัตโนมัติและระบบอัตโนมัติ 3) การผลิตอุปกรณ์อากาศยานและยานอวกาศ 4) อุปกรณ์วิศวกรรมทางทะเลและการต่อเรือไฮเทค 5) อุปกรณ์ระบบรางสมัยใหม่ 6) ยานยนต์พลังงานใหม่และประหยัดพลังงาน 7) อุปกรณ์พลังงานไฟฟ้า 8) อุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตร 9) วัสดุใหม่ และ 10) ชีวการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ประสิทธิภาพสูง

เมื่อเดือนกันยายน 2559 รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศ “แผนพิเศษว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งขับเคลื่อนโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MOST) คณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน (NDRC) กระทรวงการต่างประเทศ (MOFA) และกระทรวงพาณิชย์ (MOC) โดยมีเป้าหมายในระยะ 3 – 5 ปี คือ การแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติในประเทศจีน มีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในจีน สร้างความร่วมมือในรูปแบบข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจกับประเทศตามเส้นทาง OBOR พัฒนา platform ที่สำคัญ เช่น ห้องปฏิบัติการทดลองร่วม ศูนย์วิจัยร่วม ศูนย์ถ่ายโอนเทคโนโลยี ฐานส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี และอุทยานวิทยาศาสตร์

ต่อมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเทศไทย (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดิม) ได้จัดทำความตกลงและบันทึกความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในสาขาวิชาการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบาย Thailand 4.0 และนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)

2. ความร่วมมือ

สสน. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยดำเนินกิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง โดยในปีที่ผ่านมา สสน. มีกิจกรรมที่สำคัญกับหน่วยงาน วทน. ของจีน เพื่อนำความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาต่อยอดและปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ดังนี้

2.1 University of Chinese Academy of Sciences – UCAS

สำนักงาน ก.พ. และ University of Chinese Academy of Sciences (UCAS) มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ซึ่งได้มีการลงนามมาแล้ว จำนวน 4 ครั้ง โดยระยะแรกในปี พ.ศ. 2552 – 2554 ระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2555 – 2557 ระยะที่ 3 ในปี พ.ศ. 2558 – 2560 และปัจจุบันระยะที่ 4 พ.ศ. 2561 – 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศ สนับสนุนให้มีการส่งบุคลากรไปศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สถาบันการศึกษาในสังกัด UCAS และสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนด้านการวิจัย และบุคคลากรทางด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานวิจัยของไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีคณะทำงานความร่วมมือฯ 2 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการดูแลงานวิจัย มีศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน และ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม เป็นประธานคณะทำงาน 2) ด้านทุนการศึกษา มีเลขาธิการ ก.พ. เป็นประธานคณะทำงาน

สสน. เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ดำเนินงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้าของการทำวิจัยและการพัฒนาศักยภาพบุคคลากรร่วมกับ Institute of Atmospheric Physics (IAP), Chinese Academy of Sciences (CAS) ในด้านของงานวิจัยและพัฒนาแบบจำลอง รวมถึงการรับทุนการศึกษาของเจ้าหน้าที่ สสน. ในระดับปริญญาเอก

2.2 Chinese Academy of Sciences (CAS)

สสน. มีความร่วมมือกับ CAS โดยมี Institute of Atmospheric Physics (IAP) เป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลง Learning Network and Collaborative Research on Climate, Water Resource and Environment Sciences for Management ซึ่งได้ลงนามอย่างต่อเนื่องแล้ว 2 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2554 (ปี พ.ศ. 2554 – 2559) และฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2559 (ปี พ.ศ. 2559 – 2564) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานวิจัยร่วมกับ IAP และหน่วยงานวิจัยที่อยู่ภายใต้ IAP ซึ่งประกอบด้วย 1) International Center for Climate and Environment Science (ICCES) 2) National Key Laboratory of Numerical Modeling for Atmospheric Sciences and Geophysical Fluid Dynamics (LASG) และ 3) State Key Laboratory of Atmospheric Boundary Layer Physics and Atmospheric Chemistry (LAPC) ในด้านภูมิอากาศวิทยา การคาดการณ์สภาพอากาศแบบจำลองมลภาวะทางอากาศ และแบบจำลองอุทกวิทยา

โดยกำหนดกรอบความร่วมมือผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยน อบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ทุนการศึกษา แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญใน 4 สาขา ดังนี้
1) Advanced NWP
2) Earth System Model
3) Water Resource Management
4) High Performance Computing

2.3 Chinese Academy Of Agricultural Sciences (CAAS)

สสน. ได้ลงนามความร่วมมือการทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยงานภายใต้ Chinese Academy of Agricultural Sciences (CAAS) จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1) Institute of Agricultural Economics and Development หรือ IAED ลงนามเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ภายใต้บันทึกข้อตกลง MoU on Agro and Community Water Resource Management
2) Institute of Environment and Sustainable Development in Agriculture หรือ IEDA ลงนามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ภายใต้บันทึกข้อตกลง MoU on Ago Informatics for Community Water Resource Management

ทั้ง 2 ความร่วมมือ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และตัวอย่างความสำเร็จในด้านสารสนเทศการเกษตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำชุมชน โดยได้ดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (คกร.) และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

3. การดำเนินงาน

ภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่าง สสน. กับ หน่วยงานในสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดกิจกรรมการประชุม สัมมนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ โดยทั้งสองฝ่ายได้สลับกันเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรม ดังนี้

3.1 ด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

เจ้าหน้าที่ สสน. ได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก จำนวน 2 คน ดังนี้
1) ทุนภายใต้ความร่วมมือว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์สิรินธรระหว่างประเทศด้านภูมิสารสนเทศดาวเทียม THEOS และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้านการวิจัยภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) สาขา Photogrammetry and Remote Sensing หลักสูตรการศึกษาวิจัยและการประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียม ระบบ Synthetic Aperture Radar (SAR) เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ในหัวข้องานวิจัยเรื่อง “Landslide and flood monitoring with SAR time-series application in the Three Gorges and Thailand” โดยสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. 2560
2) ทุนการศึกษา CAS-TWAS President’s Fellowship 2014 ของ IAP สาขาอุตุนิยมวิทยา ในหัวข้องานวิจัยเรื่อง “การแปรผันของน้ำแล้ง/น้ำท่วมในประเทศไทยและการคาดการณ์รายฤดูกาล (Characteristics of drought/flood variabilities in Thailand and its seasonal prediction)” อยู่ระหว่างรอตีพิมพ์ผลงานวิจัย และจะจบการศึกษาในเดือนกรกฎาคม 2563

3.2 ด้านงานวิชาการ

สสน. เข้าร่วมประชุมและร่วมจัดงานสัมมนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น

  1. วันที่ 19 – 21 ตุลาคม 2554 ณ กทม. เข้าร่วมประชุม The 2011 Pacific Neighborhood Consortium (PNC) Annual Conference and Joint Meetings มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรและสถาบันต่างๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้แทนจาก CAS (IAP) และ Wuhan University ร่วมกันเสนอความเห็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยการนำข้อมูลทางมานุษยวิทยา สังคมวิทยา วัฒนธรรม และเทคโนโลยี มาบูรณาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  2. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กทม. สสน. เข้าร่วมงานสัมมนาไทย – จีน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน” รวมทั้งร่วมนำเสนอผลงานหัวข้อ “Beyond the Climate  Change with Community Water Resource Management (CWRM) and Adaptation”        และตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนบ้านปิยะมิตร 3 อ.เบตง จ.ยะลา
  3. วันที่ 14 – 23 กรกฎาคม 2556 ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมการประชุมงาน International Training workshop on “Extreme weather and climate events: detection, monitoring, prediction and risk management for developing countries” กิจกรรมการอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อเท็จจริง และร่วมอภิปรายในหัวข้อต่างๆเกี่ยวกับภาวะอากาศรุนแรง
  4. วันที่ 31 กรกฎาคม – 5 สิงหาคม 2559 ณ กรุงปักกิ่ง สสน. เข้าร่วมการประชุม The 13th Annual Meeting Asia Oceania Geosciences Society (AOGS) นำเสนองานงานวิจัยของ สสน. และเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอบทความวิชาการด้านทรัพยากรน้ำ และภูมิอากาศ
  5. วันที่ 17 – 19 กันยายน 2561 สสน. เข้าร่วมประชุมวิชาการ CAS-TWAS-WMO Forum โดยเจ้าหน้าที่ สสน. เข้าร่วมรับฟังและบรรยายในหัวข้อต่างๆ ภายในงาน ซึ่งสัมนาดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านแบบจำลองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การคาดการณ์สภาพอากาศเชิงคณิตศาสตร์ขั้นสูง” เพื่อเแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ด้านการคาดการณ์อากาศด้วยแบบจำลอง WRF โดยใช้ข้อมูลตรวจวัดเพื่อปรับข้อมูลเริ่มต้นของแบบจำลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการคาดการณ์ ทั้งนี้ งานสัมมนาจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และ สสน. ได้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
  6. วันที่ 5 – 9 สิงหาคม 2562 จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การเพิ่มความสามารถด้านวิทยาการข้อมูลสำหรับการใช้สถิติวิเคราะห์ผลแบบจำลอง (MOS) และ วิธีปรับความคลาดเคลื่อนเพื่อคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้นและรายฤดูกาล (Increasing Capability (InCAP-2019) in Data Science for Model Output Statistics (MOS) and Bias Correction Approach to Short-term and Seasonal Weather Forecast) ณ โรงแรมอโนมา กทม. เพื่อเสริมประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่และประยุกต์ใช้ในงานได้อย่างเหมาะสม และในอนาคตคาดหวังว่าจะมีโครงการ InCAP ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มทักษะและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านภูมิอากาศแก่ผู้เข้าร่วมอบรมต่อไป

3.3 ด้านการศึกษาดูงาน

สสน. ร่วมศึกษาดูงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านต่างๆ เช่น

  1. วันที่ 27 กันยายน 2559 ณ กรุงปักกิ่ง สสน. ร่วมกับ ผศ. สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เยี่ยมชม State Key Laboratory of Atmospheric Boundary Layer Physics and Atmospheric Chemistry (LAPC), IAP ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม และ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศท้องถิ่น  โดยใช้ข้อมูลจาก  Meteorological Tower
  2. วันที่ 18 ก.ย. 2561 ณ กรุงปักกิ่ง สสน. ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เกี่ยวกับระบบ High Performance Computing  (HPC) ที่ Computer Network Information Center ของ Chinese Academy of Science ณ. โดยได้เข้าใจการทำงานและบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และตัวอย่างการประยุกต์ใช้งานด้านวิทยาศาสตร์
  3. วันที่ 19 – 23 กันยายน 2559 คณะนักวิจัยจาก IAED และ IEAD ศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการน้ำและศึกษาตัวอย่างความสำเร็จแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ในพื้นที่ตัวอย่างของประเทศไทย
  4. วันที่ 5 – 10 เมษายน 2562 สสน. และผู้แทนชุมชน การศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ  ณ เมืองปักกิ่ง และเมืองลู่เหลียง (Luliang) มณฑลยูนนาน เพื่อร่วมกันกำหนดหลักการ ขอบเขตการดำเนินงานและความร่วมมือ และแผนวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศจีน เพื่อมาปรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนตามความเหมาะสม

ข่าวอื่นๆ