Skip to content

ความร่วมมือกับ DTI สปป.ลาว

03/04/2020

  1. ความเป็นมา

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์จากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้แทนสำนักเลขาธิการอาเซียน ได้ตกลงรับรองความริเริ่มกระบี่ 2553 (Krabi Initiative 2010) ในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 6 ณ โรงแรมเชอราตัน กระบี่ บีช รีสอร์ท จังหวัดกระบี่

ความริเริ่มกระบี่ 2553 (Krabi Initiative 2010) ประกอบด้วยข้อเสนอแนะรายสาขา 8 ด้าน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวอาเซียนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ได้แก่
1) นวัตกรรมอาเซียนสู่ตลาดโลก
2) สังคมดิจิทัล สื่อใหม่และเครือข่ายสังคม
3) เทคโนโลยีสีเขียว 
4) ความมั่นคงทางอาหาร
5) ความมั่นคงทางพลังงาน
6) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
7) ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ
8) วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือน สปป. ลาว อย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและตามคำเชิญของนายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะพลโท จูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศ สปป.ลาว และหารือกับนางปานี ยาท่อตู้ ประธานสภาแห่งชาติ สปป.ลาว โดยนายกรัฐมนตรีของไทยได้ย้ำเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และร่วมมือกับลาวอย่างใกล้ชิดในทุกๆ ด้าน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยจะร่วมผลักดันให้ทั้งสองประเทศเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการใช้กลไกทวิภาคีต่างๆ ในการผลักดันความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีกระบวนการติดตามจนบรรลุผลสำเร็จร่วมกันโดยเร็ว ซึ่งการเยือนของนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย (ภายหลังเปลี่ยนเป็น “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม”) และ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป. ลาว โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเป็นพยาน เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้าน วทน. ของทั้งสองประเทศ โดยมีสาขาความร่วมมือ ดังนี้
1)    เทคโนโลยีชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพ
2)    พลังงานหมุนเวียน
3)    เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
4)    ดาราศาสตร์
5)    เทคโนโลยีแสงซินโครตรอน
6)    เทคโนโลยีอวกาศ การสำรวจระยะไกลและระบบภูมิสารสนเทศ
7)    มาตรวิทยา มาตรฐาน การทดสอบ คุณภาพและการประเมินความเป็นไปตามข้อกำหนด
8)    การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ – พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
9)    นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
10)  การส่งเสริมนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจขนาดย่อม
11)  อุทยานวิทยาศาสตร์
12)  การจัดการทรัพยากรน้ำ
13)  เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และความปลอดภัย ความมั่นคง และการพิทักษ์ทางนิวเคลียร์
14)  สาขาอื่นๆ

2. ความร่วมมือภายใต้ Joint Research and Development Project on Science and Technology Usage for Water Resource Management

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ กรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Department of Technology and Innovation) หรือ DTI ร่วมลงนามความร่วมมือ “Joint Research and Development Project on Science and Technology Usage for Water Resource Management” จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

  • ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ระยะเวลา 4 ปี (ปี 2555 – 2559)
  • ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ระยะเวลา 4 ปี (ปี 2559 – 2562)
วัตถุประสงค์
1. ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำ
2. พัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการน้ำโดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. ขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน และชุมชน

โดยมีกิจกรรมหลักภายใต้ความร่วมมือฯ ดังนี้

2.1 การถ่ายทอดเทคโนโลยี
ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสำรวจและตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศและข้อมูลระดับน้ำผ่านทางการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชน ดังนี้

2.1.1 ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน จำนวน 8 สถานี
(1) บ้านต้นผึ้ง เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว
(2) บ้านหาดยา เมืองปากอู แขวงหลวงพระบาง
(3) บ้านใหญ่นาเจริญ เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ (2 สถานี)
(5) บ้านไฮ่ เมืองปากงึม  นครหลวงเวียงจันทร์
(6) บ้านปากกระดิงใต้ เมืองปากกระดิง แขวงบอลิคำไซ
(7) บ้านขัวเช เมืองเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน
(8) บ้านห้วยลือสี เมืองบาเจียงเจริญสุข แขวงจำปาสัก

2.1.2 การบริหารจัดการน้ำชุมชน

สสน. ร่วมกับ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิโคคา-โคลา DTI เทศบาลเมืองสังทอง และชุมชนบ้านนาเทียม ถ่ายทอดการบริหารจัดการน้ำชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพื้นที่นำร่องบ้านใหญ่นาเจริญ เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560
โครงการดังกล่าวฯ เป็นการขยายความสำเร็จการบริหารจัดการน้ำชุมชนของประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเชื่อมโยงกันทางสายน้ำ (แม่น้ำโขง) โดยพัฒนาโครงสร้างแหล่งน้ำ ขุดลอกและเชื่อมโยงแหล่งน้ำ เสริมคันสระ เสริมโครงสร้างน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำ สามารถเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ รวม 147,324 ลบ.ม. และพัฒนาระบบกระจายน้ำในพื้นที่แปลงตัวอย่างโรงเรียนมัธยมบ้านนาเทียม นอกจากนี้ยังมีแผนขยายการดำเนินงานและพัฒนาโครงสร้างแหล่งน้ำไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต

2.2 การพัฒนาศักยภาพบุคลากร

สสน. ได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำผ่านการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เจ้าหน้าที่จาก DTI ดังนี้

(1) ปี 2556 เจ้าหน้าที่ DTI จำนวน 2 คน เข้าร่วมศึกษาและฝึกงาน ณ สสน. ดังนี้
– Water resource management program ระยะเวลา 6 เดือน
– การใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชน ระยะเวลา 3 เดือน

(2) ปี 2557 อบรมการติดตั้งเครื่อง Server เพื่อรองรับและแสดงผลข้อมูลโทรมาตร ณ DTI สปป.ลาว จำนวน 6 คน

(3) ปี 2558 อบรมการใช้งานโปรแกรม QGIS โดยมีผู้แทนจาก DTI และกรมชลประทาน สปป.ลาว จำนวน 9 คน ณ ชุมชนบ้านตูม จังหวัดยโสธร และบ้านผาชัน จังหวัดอุบลราชธานี การอบรมดังกล่าวเน้นการใช้งานในการสำรวจ จัดเก็บ และจัดทำข้อมูลสำหรับวิเคราะห์แผนการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ

(4) ปี 2560 อบรมการใช้งานสถานีโทรมาตรอัตโนมัติตรวจวัดระดับน้ำและสภาพอากาศ โดยมีเข้าร่วมทั้งสิ้น 36 คน เป็นเจ้าหน้าที่จาก DTI แขวงคำม่วน แขวงหลวงพระบาง แขวงจำปาศักดิ์ แขวงบ่อแก้ว และแขวงแสงทอง ซึ่งเป็นการอบรมการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการใช้งานข้อมูล และการติดตามสถานการณ์จากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ การบำรุงรักษาสถานีโทรมาตรอัตโนมัติให้พร้อมใช้งาน และการเตรียมความพร้อมในการเพิ่มจำนวนสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ รวมทั้งการขยายผลการดำเนินงานในอนาคต

นอกจากการฝึกอบรมแล้วยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงานตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง ณ ชุมชนเวียงคุก จังหวัดหนองคาย และชุมชนบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ และพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำหลาก ณ ชุมชนบ้านตูม จังหวัดยโสธร และชุมชนผาชัน จังหวัดอุบลราชธานี ด้วย

3. การขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดสส้อม สปป.ลาว

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 สปป.ลาว ได้ประกาศกฎหมายว่าด้วยอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ เพื่อกำหนดหลักการ ระเบียบการ และมาตรการเกี่ยวกับการคุ้มครอง ติดตามการดำเนินงานด้านอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ของ สปป. ลาว โดยกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการควบคุมและการติดตั้งสถานีโทรมาตร

เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือ ผู้อำนวยการ และเจ้าหน้าที่ สสน. ผู้แทนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ประเทศไทยและผู้แทนจาก DTI สปป.ลาว ได้เข้าพบอธิบดีกรมอุตุนิยมฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว (Department of Meteorology and Hydrology: DMH, Ministry of Natural Resources and Environment: MONRE) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 เพื่อหารือชี้แจงแนวทางการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่าง สสน. DTI กับกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ เกี่ยวกับการรับมอบเครื่องโทรมาตรอัตโนมัติ จำนวน 8 สถานี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ได้หารือร่วมกันและเห็นพ้องในการส่งมอบสถานีโทรมาตรอัตโนมัติจากกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปยังกรมอุตุนิยมและอุทกศาสตร์ และได้ส่งมอบแล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562

4. แผนการดำเนินงานในอนาคต

4.1 ติดตั้งโทรมาตรเพิ่มเติม จำนวน 11 สถานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย

4.2 ขยายพื้นที่การดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำงึม ณ บ้านนาไฮ้ เมืองไชยธานี นครหลวงเวียงจันทน์

5. ตัวอย่างการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5.1 การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 เกิดอุทกภัยร้ายแรง ณ บริเวณแขวงอัตตะปือ สปป. ลาว เจ้าหน้าที่ DTI ได้นำข้อมูลจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวฯ และเหตุการณ์ครั้งนี้ สสน. ได้ใช้สถานีโทรมาตรอัตโนมัติที่ได้ร่วมมือกันเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนและระดับน้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศลาว โดยได้ประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของไทย รายงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

สถานีโทรมาตรที่ใช้ติดตามได้แก่ สถานีต้นผึ้ง สถานีน้ำอู สถานีโรงหมอน้อย และสถานีเซบั้งไฟ ซึ่งพบว่าประเทศลาวมีฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเฉพาะในช่วงที่พายุเซินติญ ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ สปป.ลาวตอนบน ช่วงวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 สามารถวัดฝนสูงสุดที่แขวงหลวงพระบางได้ 487 มิลลิเมตรในรอบ 24 ชั่วโมง และสถานีเซบั้งไฟที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับเขื่อนเซน้ำน้อย สามารถตรวจพบฝนตกหนักต่อเนื่องตลอด 4 วันก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์แล้วยังพบฝนตกหนักต่อเนื่อง

เนื่องจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงสามารถแจ้งเตือนราษฎรในพื้นที่เกิดภัยพิบัติอุทกภัย และป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรได้เพียงบางส่วน

5.2 การใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารน้ำระดับชุมชนสู่ความยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน

มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิโคคาโคลา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบุ่งคล้า ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านนาเทียม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกันดำเนินงานภายใต้ “โครงการวิจัยและพัฒนาในด้านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำ” โดยได้ดำเนินการใน 2 ด้านหลัก คือ การใช้เทคโนโลยีโทรมาตรอัตโนมัติสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการขยายผลจากประเทศไทยสู่ สปป.ลาว รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารในระดับชุมชน

โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริในพื้นที่นำร่องบ้านใหญ่นาเจริญ เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

สภาพปัญหา

ชุมชนบ้านใหญ่นาเจริญ เมืองสังข์ทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ประกอบด้วย บ้านนาลาด บ้านนาเทียม และบ้านนาเมี้ยง มีประชากรจำนวน 1,229 คน 618 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรัง แต่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย มีการทำลายป่าต้นน้ำ ขาดแคลนพื้นที่กักเก็บน้ำ ลำคลองมีสภาพตื้นเขิน ขาดการขุดลอกคูคลองและทางส่งน้ำ ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง และเกิดน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก

แนวทางการแก้ไขปัญหา

ผู้แทนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มูลนิธิโคคา-โคลา สสน. คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบุ่งคล้า ประเทศไทย ร่วมประชุมหารือกับผู้แทนจากกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านนาเทียม สปป.ลาว เพื่อวางแผนการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างแหล่งน้ำ ขุดลอกและเชื่อมโยงแหล่งน้ำ เสริมคันสระ เสริมโครงสร้างน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำ เรียนรู้เรื่องการใช้แผนที่ และร่วมจัดทำผังน้ำเพื่อใช้ในการวิเคราะห์งานพัฒนาทรัพยากรน้ำชุมชน โดย สสน. ได้น้อมนำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในพื้นที่ เพื่อนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้บริบทชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ยังสามารถนำตัวอย่างการจัดการทรัพยากรน้ำจากหลายพื้นที่ในประเทศไทยเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลและประยุกต์ใช้ในพื้นที่บ้านใหญ่นาเจริญ

ผลการดำเนินงาน

ปี 2560

โครงการ
– ขุดลอกสระลุงยัง1 และสระลุงยัง 2
– ขุดลอกสระน้ำศูนย์เทคนิคกสิกรรม
– ระบบกระจายน้ำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ พร้อมถังสำรองน้ำพีอี 2,000 ลิตร จำนวน 2 ถัง

ผลสำเร็จ
– แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พื้นที่ได้รับประโยชน์  55 ไร่ 10 ครัวเรือน
– เกิดการเชื่อมโยงของสระแก้มลิงและคลองต่างๆ ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ
– ปริมาณการกักเก็บน้ำในสระแก้มลิงทั้ง 3 แห่งเพิ่ม 73,636 ลบ.ม.

งานปี 2561

โครงการ
– โครงสร้างประตูน้ำและท่อลอด ทางน้ำออกจากสระลุงยัง 1 ไปสระลุงยัง 2
– โครงสร้างประตูน้ำและท่อลอด ทางน้ำออกจากสระลุงยัง 1 ไปห้วยตาดตะเกย
– ขุดลอกร่องน้ำเชื่อมระหว่างสระลุงยัง 1 และสระลุงยัง 2

ผลสำเร็จ
– แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พื้นที่ได้รับประโยชน์ 101 ครัวเรือน 713 คน พื้นที่เกษตร 1,200 ไร่
– เกิดการเชื่อมโยงของสระแก้มลิง และคลองต่างๆ ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ
– ปริมาณการกักเก็บน้ำเพิ่ม 42,297 ลบ.ม.

งานปี 2562

โครงการ
– เสริมคันดินสระลุงยัง 2
– โครงสร้าง Box culvert ลุงยัง 2 จำนวน1 จุด
– ขุดลอกห้วยตาดตะเกย
– โครงสร้างรางเท 1 จุด

ผลสำเร็จ
– แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พื้นที่ได้รับประโยชน์ 101 ครัวเรือน713 คน พื้นที่เกษตร 1,200 ไร่
– เกิดการเชื่อมโยงของสระแก้มลิง และคลองต่างๆ ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ
– ปริมาณการกักเก็บน้ำลุงยัง2 จำนวน 12,926 ลบ.ม
– ปริมาณการกักเก็บน้ำห้วยตาดตะเกย จำนวน 18,465 ลบ.ม

จากการดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่บ้านใหญ่นาเจริญ ส่งผลให้เพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรเป็นทฤษฎีใหม่ ชุมชนสามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน

ข่าวอื่นๆ