ความร่วมมือกับ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
26/05/2020
- ความเป็นมา
สืบเนื่องจากพระนโยบายใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่ทรงมีพระดำริให้ดำเนินภารกิจด้านการเฝ้าระวังภัย ป้องกันการเกิดภัย และการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ประสบภัยอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับภารกิจหลักของมูลนิธิฯ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ด้านการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบภัยเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสามารถเตรียมความพร้อม และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเกิดอุทกภัยซ้ำซ้อน โดยเน้นการเชื่อมโยง สนับสนุน ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน ร่วมเกื้อหนุนให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อก้าวไปสู่การเป็นตัวอย่างของโลกในการบรรเทาทุกข์และการพัฒนาที่ยั่งยืน
สสน. ในฐานะเครือข่ายด้านการเฝ้าระวังภัยของมูลนิธิฯ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ สสน. ได้ดำเนินงาน “โครงการเครือข่ายชุมชนเตือนภัยพิบัติ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายเตรียมความพร้อมในการรับมือและวางแผนบริหารจัดการสถานการณ์ โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างระบบบริหารจัดการในการเตือนภัยชุมชนให้สามารถบรรเทาภัย รวมทั้ง เพื่อพัฒนาเครือข่ายคน เครือข่ายข้อมูล และเครือข่ายการจัดการ เพื่อให้ชุมชนสามารถปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครเตือนภัยในการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัย และบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยเน้นการดำเนินงานร่วมกับชุมชนต้นแบบ ชุมชนเครือข่ายเตือนภัย และหน่วยปฏิบัติการสารสนเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ สามารถขยายแนวคิดเชิงปฏิบัติและการประยุกต์ใช้ให้กับเครือข่ายขยายผลในเชิงคุณภาพต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวได้ขยายครอบคลุมไปยังโครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เพื่อสร้างระบบติดตามสภาพอากาศ ฝน และระดับน้ำ ในลำน้ำสาขาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงฝั่ง สปป. ลาว ที่ยังขาดข้อมูลตลอดแนวชายแดน รวมทั้งพัฒนาสู่ระบบเตือนภัย และบูรณาการข้อมูลน้ำและสภาพอากาศเข้าสู่คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ และขยายเครือข่ายในการใช้และให้บริการข้อมูลไปยังระดับอาเซียน
2. ความร่วมมือ
เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นบริเวณแขวงอัตตะปือ สปป. ลาว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 จากการที่เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเกิดรอยแตกบริเวณสันเขื่อน มวลน้ำจำนวนมหาศาลปริมาณมากถึง 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักผ่านแม่น้ำเซเปียนจนเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนบริเวณเมืองสะหนามไซ แขวงอัตตะปือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของ สปป. ลาว โดยเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 27 คน และมีผู้สูญหายมากกว่า 130 คน ประชาชนกว่า 1,300 ครัวเรือน ไร้ที่อยู่อาศัย ได้รับความเดือดร้อนทั้งในด้านการคมนาคมและด้านความเป็นอยู่ ตลอดจนทรัพย์สินและพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนัก นับเป็นอุทกภัยร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นใน สปป. ลาว จากเหตุการณ์ดังกล่าว อธิบดีกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม สปป. ลาว ได้ใช้ข้อมูลจากสถานีโทรมาตรอัตโนมัติทั้ง 8 สถานี ซึ่งได้ดำเนินงานติดตั้งผ่านโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) มาใช้ติดตามสถานการณ์และรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สปป. ลาว ทราบถึงสถานการณ์ฝน และระดับน้ำสำคัญของประเทศลาว
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภาชาดไทย ทรงติดตามข่าวและให้ความสนพระทัยห่วงใยต่อประชาชนชาวลาวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรงดังกล่าว และเนื่องจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มีภารกิจในการให้บรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมไปถึงส่งความช่วยเหลือยังต่างประเทศด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีรับสั่งให้มูลนิธิฯ มอบเงินสมทบช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 2,000,000 บาท และประทานถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 1,000 ถุง ผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต
แหล่งที่มา (ภาพมุมสูง): http://www.lokwannee.com/web2013/?p=315870
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว และเชิญพระกระแสของทั้งสองพระองค์ที่ทรงห่วงใยประชาชนชาวลาวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ รวมทั้งหารือเกี่ยวกับความร่วมมือ การให้ความช่วยเหลือระหว่างมูลนิธิฯ และ สปป. ลาว ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ให้ความเห็นชอบและมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป. ลาว ประสานงานกับมูลนิธิฯ
จากนั้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561 ทั้งสองพระองค์ประทานพระอนุญาตให้คณะผู้บริหาร สสน. เข้าเฝ้าฯ และนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการและการแจ้งเตือนอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในฝั่ง สปป.ลาว โดยให้สามารถส่งผลต่อฝั่งประเทศไทย อันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎรทั้ง 2 ประเทศ
สสน. ได้พัฒนาระบบโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อการเตือนภัย และร่วมกับกรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ สปป.ลาว หรือ DTI ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ในลุ่มน้ำโขง ฝั่ง สปป.ลาว จำนวน 8 สถานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 และในช่วงเหตุการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ 24–27 กรกฎาคม 2561 เจ้าหน้าที่ DTI ได้นำข้อมูลจากสถานีโทรมาตรฯ รายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรับมือเหตุการณ์ แต่เนื่องจากสถานีโทรมาตรฯ ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงสามารถแจ้งเตือนและป้องกันความเสียหายได้เพียงบางส่วน
ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ และเพื่อเป็นการสนองพระดำริ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ สสน. ได้ดำเนิน “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว” เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ และสามารถแจ้งเตือนราษฎรในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากอุทกภัย และบรรเทาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร รวมทั้งใช้ข้อมูลในการติดตามสถานการณ์และประกอบการวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤต อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อราษฎรทั้ง 2 ประเทศ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 คณะผู้แทนจากประเทศไทย นำโดย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการมูลนิธิฯ พร้อมด้วยผู้แทนจากมูลนิธิฯ เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ และผู้แทนจาก สสน. เข้าพบและหารือกับ ฯพณฯ ไซนะคอน อินทวง รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ กับ สปป.ลาว โดยมูลนิธิฯ ได้แสดงเจตนารมย์เสนอความช่วยเหลือ และสนับสนุนงบประมาณในการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อสนับสนุนการเตือนภัยอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง จำนวน 11 สถานี การจัดประชุมสัมมนาฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการเฝ้าระวังอุทกภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การบรรเทาทุกข์ และการบำรุงรักษาสถานีอัตโนมัติ
3. การดำเนินงาน
3.1 แต่งตั้งคณะทำงานร่วมไทย – ลาว
ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบร่วมกันให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมไทย – ลาว โดยให้ทั้งสองฝ่ายเสนอรายชื่อคณะทำงานเพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนการปฏิบัติงานด้านต่างๆ ซึ่งคณะทำงานร่วมฝ่ายไทยได้ดำเนินการจัดตั้งเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 สำหรับฝ่าย สปป. ลาว ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน
3.2 จุดติดตั้งสถานีอัตโนมัติ
ผู้แทนจากมูลนิธิฯ และ สสน. ได้สำรวจและกำหนดจุดติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติในเบื้องต้น จำนวน 11 สถานี ดังนี้
1) Ban Muang Kan แขวงบ่อแก้ว
2) Pak Beng แขวงไซยะบุรี
3) Nam Po แขวงวังเวียง
4) Nam Xong 1 แขวงวังเวียง
5) Nam Xong 2 แขวงวังเวียง
6) Pak san แขวงปากซัน
7) Nam Hinboun แขวงคำม่วน
8) Xe Banfai แขวงสะหวันนะเขต
9) Banghiang River แขวงสะหวันนะเขต
10) Ban Xenouan แขวงสาละวัน
11) Attapue แขวงอัตตะปือ
โดยจุดติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติดังกล่าว จะหารือร่วมกับกรมอุตุนิยมฯ สปป.ลาว เพื่อพิจารณาหาความซ้ำซ้อนกับพื้นที่ที่กรมอุตุนิยมฯ หรือแหล่งความช่วยเหลืออื่นได้ดำเนินการ หากมีความซ้ำซ้อนจะพิจารณาหาพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมต่อไป