ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น

06/05/2020

สสน. มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจ และเฝ้าระวังอุทกภัย ดังต่อไปนี้ 

1. ระบบโทรมาตรอัตโนมัติ (Automated Telemetry)

ในปี 2546 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้เริ่มงานวิจัยโทรมาตรร่วมกับ National Agriculture Research Organization (NARO) ประเทศญี่ปุ่น จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Field Server Workshop โดยนำอุปกรณ์ระบบโทรมาตร ที่เรียกว่า Field Server ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโทรมาตรที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก มาปรับใช้ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ภายใต้โครงการเครือข่ายสารสนเทศการเกษตร และความร่วมมือในกลุ่ม Agriculture Working Group ของ Asia – Pacific Advanced Network (APAN) และจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือที่เรียกว่า Field Server Forum ขึ้นระหว่างหน่วยงานภายในประเทศที่สนใจจะนำไปใช้ประโยชน์

ต่อมา สสน. ได้ต่อยอดงานวิจัยด้านโทรมาตร โดยได้พัฒนาระบบโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อตรวจวัดข้อมูลระยะไกลทางด้านน้ำ ซึ่งมีขนาดเล็กและติดตั้งง่าย สามารถวัดระดับน้ำ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ ความเข้มแสง ความเร็วลม เชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติผ่านระบบรับส่งข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียม (Satellite Communication System) สามารถแสดงผลข้อมูลในรูปของภูมิสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet GIS) ผ่านทาง เว็บไซต์ www.thaiwater.net โดยสถานีโทรมาตรของ สสน. ที่ติดตั้งแล้วทั่วประเทศกว่า 900 สถานี ช่วยให้มีข้อมูลเพียงพอต่อการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. โครงข่ายสถานีอ้างอิงค่าพิกัด ค่าระดับ และเวลามาตรฐานประเทศไทย แบบรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องถาวร (GNSS CORS)

ระหว่างวันที่ 8 – 10 กุมภาพันธ์ 2558 นรม. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หารือกับ H.E. Mr. Shinzo Abe เรื่องติดตั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม (Global Navigation Satellite Systems: GNSS) ผ่านสถานีอ้างอิงและปรับแก้ข้อมูลดาวเทียมนำทาง (Continuously Operating Reference Stations: CORS) หรือ GNSS CORS ในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นมีความตั้งใจที่จะร่วมมือด้านการติดตั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม (GNSS) ผ่านสถานีอ้างอิงและปรับแก้ข้อมูลดาวเทียมนำทาง (CORS) โดยใช้เทคโนโลยีค้นหาตำแหน่งผ่านดาวเทียม ซึ่งจะช่วยสร้างแผนที่ที่มีความแม่นยำสูง และสามารถปรับใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง รวมถึงสามารถใช้ในการบริหารจัดการอุทกภัยอีกด้วย โดยในวันที่ 13 ก.พ. 2558 ครม. มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานไทย – ญี่ปุ่นด้านการพัฒนาสถานีอ้างอิงด้านพิกัดและเวลาด้วยสัญญาณดาวเทียม (GNSS CORS Working Group) โดยให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

สสน. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินงานโครงการจัดตั้ง “โครงข่ายสถานีอ้างอิงค่าพิกัด ค่าระดับ และเวลามาตรฐานประเทศไทย แบบรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องถาวร เพื่อประเมินความเสียหายในพื้นที่เสี่ยงภัย” ในปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ติดตั้งโครงข่ายสถานีอ้างอิง จำนวน 6 สถานี บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สมุทรปราการ อ่างทอง ฉะเชิงเทรา และนครปฐม ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคกลาง เพื่อใช้ตรวจสอบและติดตามระดับน้ำสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยระบบ GNSS CORS เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ทั้งค่าพิกัดตำแหน่ง และค่าระดับ รวมไปถึงข้อมูลชั้นบรรยากาศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการพัฒนาระบบสำรวจ การสนับสนุนข้อมูลเพื่อวางแผนพัฒนาและงานวิจัย และสามารถต่อยอดในงานพัฒนาประเทศที่สำคัญต่างๆ ได้ เช่น งานสำรวจรังวัด การวางแผนออกแบบสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภค การจัดทำแผนที่ความแม่นยำสูง การสนับสนุนงานวิจัย การเกษตร การคมนาคมและขนส่ง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรและการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น

ปัจจุบัน การติดตั้งสถานีฐานอ้างอิง GNSS CORS ในประเทศไทย มีหน่วยงานที่ร่วมติดตั้งและให้บริการแล้ว คือกรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง และโครงการความร่วมมือ ระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ซึ่งในปี 2563 มีจำนวนสถานี GNSS CORS ทั้งหมด รวม 285 สถานี ให้บริการข้อมูลค่าปรับแก้เชิงตำแหน่งรายละเอียดสูงได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ข่าวอื่นๆ