ชุมชนบ้านเปร็ดใน ต. ห้วงน้ำขาว อ. เมืองฯ จ. ตราด

24/10/2024

การบริหารจัดการน้ำ 4 น้ำ (ดักน้ำจืด ดุลน้ำกร่อย ดันน้ำเค็ม แก้น้ำเสีย )

IMG 1705 0

สภาพปัญหา

ชุมชนบ้านเปร็ดใน ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็นชุมชนขนาดกลาง ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านแหลมโป๊ะ หมู่ 2 บ้านเปร็ดใน หมู่ 3 บ้านคลองหลอด – อ่าวกูด หมู่ 4 บ้านห้วงน้ำขาว หมู่ 5 บ้านคันนา รวมแล้วมี 1,160 ครัวเรือน ประชากร 3,256 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำประมงเพาะเลี้ยงบริเวณชายฝั่ง มีป่าชุมชนเป็นป่าชายเลนพื้นที่ 12,000 ไร่ ชุมชนได้เริ่มดูแลป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 โดยมีข้อตกลง มีกฎระเบียบ มีแผนการจัดการ ตามกรอบรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ระยะเวลาการฟื้นฟูและดูแลป่าชายเลนประมาณ 20 ปี จนกระทั่งเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ ชุมชนบ้านเปร็ดใน มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าชายเลนมาโดยตลอด จนกระทั่งนายทุนได้สิทธิสัมปทานป่าชายเลน ประกอบกับการขยายตัวของการทำนากุ้ง ทำให้ป่าชายเลนถูกบุกรุกกว่า 5,000 ไร่  ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศถูกทำลายลง เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และชุมชนเกิดหนี้สินสูงถึง 30 ล้านบาท

จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

ชุมชนบ้านเปร็ดในได้เข้าร่วมการจัดการน้ำเสียในบ่อกุ้ง ลำคลองธรรมชาติ และป่าชายเลน โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ให้โอกาสไปศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ได้ไปศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี, โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง และได้อัญเชิญพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ทำให้ชุมชนประสบความสำเร็จในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฝายกักเก็บน้ำจืดเพื่อดุลน้ำเค็ม สร้างฝายท่อลอดในการกักเก็บน้ำจืดเพื่อสร้างความชุ่มชื้น ใช้บ่อกุ้งร้างทำเป็นสระแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ปรับปรุงพื้นที่จากนาข้าว นากุ้งร้าง ให้เป็นร่องสวน และปลูกพืชผสมผสานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” และเลี้ยงปู ปลา ในบ่อ และร่องสวน ได้มีการปรับตัวสร้างอาชีพในพื้นที่เดียวกัน แต่มีการจัดการ 2 น้ำ โดยในบ่อจะเป็นน้ำเค็ม มีการเลี้ยงปู ปลา แต่บนคันบ่อปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อนำมาใช้ในครัวเรือน เมื่อมีเหลือก็แบ่งปัน แจกจ่าย และจำหน่าย ทำให้ชุมชนมีรายได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี

จากความสำเร็จในชุมชน ได้ขยายการจัดการน้ำไปสู่พื้นที่ในระดับตำบล การที่ชุมชนได้รับโอกาสจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และเป็นที่ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทั่วไป ทำให้ชุมชนบ้านเปร็ดใน มีความภาคภูมิใจและขอตั้งปณิธานที่จะสืบสานและน้อมนำศาสตร์พระราชามาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไป นายศุภกิจ กล่าว

การแก้ไขปัญหาและการเปลี่ยนแปลง

เมื่อป่าชายเลนของชุมชนถูกทำลายอย่างรวดเร็ว ชุมชนจึงตกลงร่วมกันในการปิดป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม มีการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ปลูกป่าทดแทน และสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของป่าชายเลนให้กับคนในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อช่วยลดหนี้สินและสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับสมาชิกในชุมชน ในปี พ.ศ. 2552 ชุมชนบ้านเปร็ดในได้จัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มบริหารจัดการน้ำบ้านเปร็ดในสำเร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำเสีย โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ในการถ่ายทอดแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสู่ชุมชน ชาวบ้านได้ร่วมกันเรียนรู้และประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการจัดทำแผนที่น้ำ วิเคราะห์และวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ฝายชะลอน้ำและระบบสระแก้มลิง เพื่อสำรองน้ำจืดให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร รวมถึงการอนุรักษ์ป่าชายเลน ฟื้นฟูบ่อกุ้งร้างและพื้นที่สาธารณะให้กลายเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ ชุมชนยังได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เริ่มจากการผลิตเพื่อเลี้ยงครอบครัว และขยายสู่การแบ่งปันและจำหน่าย ช่วยลดหนี้สินและเพิ่มรายได้ของครัวเรือน พร้อมขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังชุมชนใกล้เคียง

ผลจากการดำเนินงานนี้ทำให้ชุมชนบ้านเปร็ดในสามารถสำรองน้ำจืดได้กว่า 1,776,505 ลูกบาศก์เมตร ลดปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่เกษตรและสระน้ำของชาวบ้าน ช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างยั่งยืน

IMG 1855 0

ปัจจัยความสำเร็จ

ชุมชนลงมือทำและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเริ่มจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน เพื่อให้ระบบนิเวศป่าชายเลนกลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ที่สุด ร่วมกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด และลดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่การเกษตรและสระเก็บน้ำของชุมชน ทำให้เกิดความมั่นคงน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิถีในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดปัญหาหนี้สิน และทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ความสำเร็จ

  1. เกิดป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน มรดกผืนป่าตะวันออก
    กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน เริ่มดูแลป่าชายเลนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ฟื้นฟูและอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนพื้นที่ 12,000 ไร่ จนมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย
  • กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ประกอบด้วย 6 กลุ่มย่อย กลุ่มละ 20 ครัวเรือน แบ่งเขตรับผิดชอบดูแลพื้นที่ป่าชายเลนเป็น 5 โซน สมาชิกผลัดกันออกลาดตระเวนดูแลป่าชายเลน เพื่อตรวจสอบการลักลอบตัดไม้ การเผาถ่าน และทำลายระบบนิเวศ เกิดแผนการจัดการป่าชายเลนชุมชน โดยศึกษาสภาพป่า ทำแนวเขต แผนที่ แบ่งพื้นที่การจัดการ วางกฎระเบียบและข้อตกลงในการใช้ประโยชน์ทรัพยากร และสามารถขยายเครือข่ายชุมชนใกล้เคียงเพื่อจัดการป่าชายเลนและแก้ปัญหาหน้าทะเลร่วมกัน
  • แผนบริหารจัดการป่าชายเลน เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการป่าร่วมกันของชาวบ้าน มีการระดมความคิดเห็นระหว่างชาวบ้าน ผู้ใช้ประโยชน์ ผู้นำ คณะกรรมการฯ และจากการฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนทำให้ทรัพยากรพืชพันธุ์ไม้และสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คนทั้งในและนอกชุมชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์และพึ่งพิงป่าชายเลน นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเปร็ดในยังได้กำหนดข้อตกลง กฎระเบียบ ในการเก็บหาและใช้ประโยชน์จากป่าในเรื่องไม้ การทำประมงพื้นบ้าน การจับสัตว์น้ำ และสัตว์อื่นๆ พร้อมบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ชุมชนข้างเคียงและหน่วยงานภาครัฐเกิดความเข้าใจการจัดการป่าชายเลนของชุมชนมากขึ้น ชุมชนเลิกการทำประมงอวนรุน อวนลาก ส่งผลให้ทรัพยากรหน้าทะเลเพิ่มขึ้น และจำนวนคนบุกรุกป่าชายเลนลดลง
  • อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ตามนโยบาย “หยุดจับร้อย คอยจับล้าน” ด้วยการห้ามจับปูแสมในคืนขึ้น 4-5-6 ค่ำ และ แรม 4-5-6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่ปูแสมวางไข่และเป็นตัวอ่อน
  • ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยใช้ “เต๋ายาง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อลดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ป่าชายเลนจากเรือคราดหอย ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อทำเต๋ายางตามแนวชายฝั่ง ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ เต๋ายางยังทำหน้าที่เป็นบ้านปลา ช่วยเพิ่มจำนวนปลา และชุมชนบ้านเปร็ดในยังรณรงค์ให้ใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำที่เหมาะสม การเลิกใช้เรือคราดหอย เป็นต้น
  • ขยายเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน จัดค่ายสิ่งแวดล้อมทรัพยากรชายฝั่งทะเล เพื่อขยาย เครือข่ายไปสู่ระดับครอบครัวในชุมชนบ้านเปร็ดใน และเครือข่ายชุมชนภายนอก เกิดเวที แลกเปลี่ยนความรู้และการดำเนินงานระหว่างภาคีเครือข่าย ทั้งภาคชุมชน ภาครัฐ และ องค์กรเอกชน สร้างคนรุ่นใหม่สืบสานภารกิจด้วยการจัดค่ายเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม นำหลักสูตรท้องถิ่นเข้าไปในระบบโรงเรียน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ของชุมชนตระหนักถึงคุณค่าในวิถีชีวิตดั้งเดิมของท้องถิ่น มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสำรวจและจัดเก็บข้อมูล เรียนรู้แนวคิดและการทำงานจากแกนนำชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อสืบทอดวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและดีงามต่อไป

2. เกิดฝน 8 แดด 4 บริหารจัดการ 4 น้ำ
ชุมชนบ้านเปร็ดในมีฝนตกยาวนานติดต่อกันถึง 8 เดือน มีปริมาณน้ำฝนสะสมรายปีเฉลี่ยสูงถึง 2,882.2 มิลลิเมตรต่อปี แต่กลับขาดแคลนน้ำจืด ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ซึ่งสาเหตุหลักคือ ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และขาดแหล่งกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

IMG 0254 0

ชุมชนบ้านเปร็ดในได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน กักเก็บน้ำจืดให้อยู่ในพื้นที่ไว้ให้ได้มากและนานที่สุดในช่วงฤดูแล้ง 30-35 วัน และกักเก็บน้ำฝนที่ตกอยู่ในพื้นที่ถึง 8 เดือน ด้วยการบริหารจัดการ ดังนี้

  • ดักน้ำจืด โดยเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำจืด จากน้ำฝนและน้ำหลากเข้าสู่พื้นที่แก้มลิง โดยนำบ่อกุ้ง บ่อปลา ที่ไม่ได้ใช้งานมาปรับปรุงเป็นสระแก้มลิง รวมทั้งขยายลำรางที่ตื้นเขินต่างๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และปรับพื้นที่เกษตรเป็นร่องสวนกักเก็บน้ำจืดไว้กับชุมชนให้ได้มากที่สุด
  • ดุลน้ำกร่อย สร้างสมดุลระบบนิเวศป่าชายเลน เป็นแนวกันชนระหว่างน้ำจืดและน้ำเค็ม เกิดแนวป้องกันการปะทะและกัดเซาะชายฝั่งทะเล (Soft Break) มีการแบ่งแนวเขตของพรรณไม้ชายเลน 3 ชั้น ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่ติดแผ่นดินจนถึงทะเล ซึ่งถือเป็นแนวกันชนก่อนที่น้ำเค็มจะรุกล้ำเข้าถึงพื้นที่ของชุมชน และระบบรากของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน เช่น โกงกาง แสม โปรง ฝาดดอกแดง ตาตุ่มทะเล ฯลฯ เป็นเสมือนเครื่องกรองน้ำเสีย คัดกรองขยะ ดูดซับมลพิษที่ปะปนมากับน้ำ เป็นการกรองน้ำเสียก่อนที่จะระบายลงสู่ทะเลอีกทางหนึ่ง ทำให้แหล่งน้ำจืดซึ่งเป็นคลองขนาดสั้น จำนวน 12 คลองที่เชื่อมต่อกับทะเลมีปริมาณน้ำจืดในแผ่นดินเพียงพอและไม่กลายสภาพเป็นน้ำกร่อย ทำให้รอยต่อพื้นที่น้ำกร่อยมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
  • แก้น้ำเสีย ในอดีต ชุมชนประสบปัญหาน้ำเสียจากการบุกรุกป่าชายเลนมาทำนากุ้ง ทำให้ป่าชายเลนที่เป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติถูกทำลาย รวมทั้งมีน้ำเสียเพิ่มจากการทำนากุ้ง จึงหันมาร่วมกันฟื้นฟูป่าชายเลน และกำหนด กฎ กติกา การทำนากุ้งด้วยวิธีธรรมชาติ ห้ามทิ้งเลนกุ้งเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
  • ดันน้ำเค็ม ใช้น้ำจืดดันน้ำเค็ม โดยการสร้างฝายและบานประตูเพื่อกักเก็บน้ำจืดเป็นช่วงๆ พร้อมกับการบริหารระดับน้ำแนวกันชนน้ำจืดและน้ำเค็ม ดังนี้
    • สร้างฝายกั้นน้ำด้วยกระสอบทรายจำนวน 49 ฝาย ในลำรางสาธารณะและร่องน้ำในสวน ซึ่งช่วยให้ประโยชน์แก่ครัวเรือนจำนวน 458 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 6.47 ตารางกิโลเมตร
    • ติดตั้งประตูระบายน้ำ 27 ประตู ในลำรางสาธารณะเพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ ซึ่งช่วยให้ประโยชน์แก่ครัวเรือนจำนวน 392 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 4.87 ตารางกิโลเมตร
    • สร้างฝายคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 24 ฝาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำจืดในจุดที่น้ำจืดและน้ำทะเลมาบรรจบกัน ซึ่งช่วยให้ประโยชน์แก่ครัวเรือนจำนวน 401 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 1.48 ตารางกิโลเมตร

3. เกิดสัจจะมั่นคง ออมทรัพย์ ออมสุข เกษตรผสมผสาน ขยายผลสู่ความยั่งยืน

  • กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ การจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เพื่อจัดสวัสดิการครบวงจรชีวิต สำหรับเป็นทุนในการดำรงชีพและพัฒนางานอื่นๆ ตามหลักธรรม “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์” โดยพระอาจารย์สุบิน ปณีโต วัดไผ่ล้อม ที่มุ่งให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความเข้มแข็ง เป็นแบบอย่างที่ดีของการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและจิตใจ พึ่งตนเองและบริหารตนเอง โดยวิธีการหมุนเวียนเงินกองทุน เพื่อให้สมาชิกทำธุรกรรมการเงินภายในกลุ่ม แทนการใช้บริการจากสถาบันการเงินอื่น ระบบสัจจะสะสมทรัพย์ สามารถปลดหนี้ของชุมชนบ้านเปร็ดใน จาก 30 ล้านบาท เหลือ เพียง 10 ล้านบาท ชุมชนมีรายได้ มีเงินออมเดือนละประมาณ 60,000 บาท และกลายเป็น ต้นแบบการจัดการระบบสัจจะสะสมทรัพย์ให้กับชุมชนต่างๆ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์มีกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน โดยร่วม แรงร่วมใจกันต่อสู้กับผู้ทำสัมปทานป่าชายเลนผิดกฎหมาย ร่วมกันแก้ไขปัญหาจากการทำนา กุ้ง การลักลอบตัดไม้ จนถึงปัญหาเรืออวนลาก อวนรุน นอกจากนี้ ยังดำเนินกิจกรรมที่ หลากหลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจชุมชนและการศึกษา เช่น กิจกรรมโฮมสเตย์ของชุมชนบ้าน เปร็ดใน ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน และเป็นการต่อยอดเรื่องการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ชุมชนบ้านเปร็ดในยังมีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มสาธารณะ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาดอเนกประสงค์บ้านเปร็ดใน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร สหกรณ์แปรรูปอาหารบ้านเปร็ดใน จำกัด ประปาหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชน (ลูกไม้ป่าเลน) กลุ่มวัฒนธรรมพื้นบ้าน เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้รักสามัคคี บ้านเปร็ดในไม่เคยมีปัญหาการลักขโมย ชุมชนบ้านเปร็ดในมีวิถีความเป็นอยู่ที่เกื้อกูล มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน สามารถพึ่งพาตนเองได้บนฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
  • ออมสุข ชุมชนบ้านเปร็ดในได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมกลุ่มดำเนินงาน และขยายผลเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการจัดสรรแปลงเกษตร และใช้พื้นที่เพาะปลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดทำปฏิทินการผลิต วางผังการผลิตรายแปลง จัดวางระบบสำรองน้ำและระบบกระจายน้ำ ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เน้นการทำเกษตรเพื่อบริโภคเอง หากมีเหลือจึงแบ่งปันเพื่อนบ้าน และขายบ้าง ช่วยลดรายจ่ายเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 24,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเพิ่มรายได้ 36,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันมีครัวเรือนที่เห็นความสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ และมีการขยายผลด้วยตนเอง มีการขุดสระสำรองน้ำในพื้นที่ ขุดร่องลำรางในพื้นที่สวนเกษตรของตนเอง จำนวน 118 ราย พื้นที่ 157 ไร่ ปริมาณน้ำเฉลี่ย 377,727 ลูกบาศก์เมตร
IMG 9305 0

การขยายผล
ในปี 2563 ชุมชนบ้านเปร็ดในประสบความสำเร็จในการขยายผลการปฏิบัติจากหมู่บ้านเดียวที่มีประชากร 1,047 คน สู่ 5 หมู่บ้าน รวมประชากร 3,256 คน พื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากแนวคิดนี้เพิ่มขึ้นจาก 28.8 ตารางกิโลเมตร เป็น 44.86 ตารางกิโลเมตร

งานอื่นๆ