สสน. จับมือ เครือข่าย TNDR 19 มหาวิทยาลัย - มช. วางแผนเชิงรุกค้นหาพื้นที่เสี่ยง ยกระดับการเตือนภัยน้ำท่วม
15/01/2025
สสน. จับมือ เครือข่าย TNDR 19 มหาวิทยาลัย และ มช. วางแผนเชิงรุกค้นหาพื้นที่เสี่ยงภัย โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีล้ำหน้ารับมือภัยพิบัติภาคเหนือ ยกระดับการเตือนภัยน้ำท่วมและ PM 2.5 สู่ความแม่นยำสูงสุด
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ร่วมมือกับเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย 19 มหาวิทยาลัย (TNDR) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. ผนึกกำลังถอดบทเรียนและเตรียมรับมือภัยพิบัติในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอุทกภัยและฝุ่นละออง PM 2.5 นำโดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. ดร.สุทัศน์ วีสกุล ที่ปรึกษา สสน. ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย 19 มหาวิทยาลัย (TNDR) รศ. ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายศิวกร บัวป้อง รอง ผวจ. เชียงใหม่ และผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษาภายใต้เครือข่าย TNDR และหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมรับฟังการบรรยายและชมการสำรวจค่าระดับคราบน้ำท่วม (Flood Mark) โดยรถสำรวจระดับความสูงภูมิประเทศ (Mobile Mapping System : MMS) และการเตรียมความพร้อมในการรับมือฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยในงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 80 คน
ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์และเตือนภัยล่วงหน้า โดยมีเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่
- ระบบสำรวจระดับความสูงภูมิประเทศ (Mobile Mapping System: MMS): ใช้ในการสร้างแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมความละเอียดสูง ช่วยระบุพื้นที่เสี่ยง และประเมินความรุนแรงได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลนี้จะช่วยให้ภาครัฐและประชาชนสามารถเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เครื่องหมายระดับคราบน้ำท่วม (Flood Mark): ติดตั้งกว่า 3,000 จุดในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมของเชียงใหม่ ช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงและเตรียมการอพยพได้ทันท่วงที
- เซนเซอร์ตรวจวัด PM 2.5: ติดตั้งในสถานีโทรมาตรทั่วภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและสนับสนุนการควบคุมไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ สสน. TNDR และ มช. ในการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและความยั่งยืนให้กับประชาชนในภาคเหนือ การพัฒนาและนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ จะช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นต้นแบบที่ดีในการรับมือกับภัยพิบัติในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป