ระบบนำทางด้วยดาวเทียม GNSS (Global Navigation Satellite System)

02/10/2019

GNSS (Global Navigation Satellite System) คือ ระบบนำทางด้วยดาวเทียม โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวรับสัญญาณเพื่อประมวลผลเชิงตำแหน่ง ณ จุดที่อุปกรณ์รับสัญญาณตั้งอยู่ เทคโนโลยีนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในงานด้านสำรวจและการวิจัย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียมขึ้นมาหลายระบบ เช่น GPS (USA), GLONASS (Russia), Galileo (Europe), BeiDou (China), QZSS (Japan), SBAS เป็นต้น

เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี GNSS นี้ โดยการสร้างโครงข่ายสถานีอ้างอิงค่าพิกัด ค่าระดับ และเวลามาตรฐานประเทศไทย แบบรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องถาวร หรือ GNSS CORS NETWORK (GNSS Continuously Operating Reference Station Network) ซึ่งสถานีอ้างอิงแบบรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องถาวรนี้ จะส่งสัญญาณค่าปรับแก้ในรูปแบบโครงข่าย ทำให้ได้ค่าประมวลผลเชิงตำแหน่งที่มีความถูกต้องแม่นยำสูงในเวลารวดเร็ว

ขั้นตอนการทำงาน GNSS CORS NETWORK

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้ดำเนินงานโครงการจัดตั้ง “โครงข่ายสถานีอ้างอิงค่าพิกัด ค่าระดับ และเวลามาตรฐานประเทศไทย แบบรับสัญญาณดาวเทียมต่อเนื่องถาวร เพื่อประเมินความเสียหายในพื้นที่เสี่ยงภัย” ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และ สสน. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ติดตั้งโครงข่ายสถานีอ้างอิง จำนวน 6 สถานี (ปราจีนบุรี สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สมุทรปราการ อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครปฐม) ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในภาคกลาง เพื่อใช้ตรวจสอบและติดตามระดับน้ำสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว

พื้นที่ให้บริการโครงข่าย GNSS CORS : พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง

ปัจจุบัน สสนก. ได้เปิดให้บริการข้อมูลใน 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. แบบ Real-time : สามารถร้องขอมาที่ สสนก. เพื่อรับสิทธิ์การเข้าใช้งาน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานร่วมทดสอบใช้งานแล้ว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมแผนที่ทหาร
  2. แบบ Post-processing : ให้บริการผ่าน Web Browser http://164.115.138.208:8080/geopp_gnweb/gnweb.html

การประยุกต์ใช้ระบบ GNSS CORS กับการพัฒนาประเทศ

ปัจจุบัน GNSS CORS Network ในประเทศไทย ที่ติดตั้งและให้บริการแล้ว คือ กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง และโครงการความร่วมมือ ระหว่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) รวมทั้งสิ้น 82 สถานี และกำลังดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมโดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งในปี 2562 จะมีจำนวนสถานี GNSS CORS ทั้งหมด รวม 222 สถานี ครอบคลุมทั่วประเทศ

ระบบ GNSS CORS Network สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสำรวจต่างๆ ได้ทั้งด้านการสำรวจทางบก การสำรวจทางน้ำ และการสำรวจทางอากาศ สำหรับการป้องกัน การเตรียมการและการเตือนภัย ตลอดจนการแก้ไขสถานการณ์เมื่อเกิดภาวะวิกฤต เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจโดยระบบ GNSS CORS เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง ทั้งค่าพิกัดตำแหน่ง และค่าระดับ รวมไปถึงข้อมูลชั้นบรรยากาศ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งการพัฒนาระบบสำรวจ การสนับสนุนข้อมูลเพื่อวางแผนพัฒนาและงานวิจัย และสามารถต่อยอดในงานพัฒนาประเทศที่สำคัญต่างๆ ได้ เช่น งานสำรวจรังวัด การวางแผนออกแบบสิ่งปลูกสร้างและสาธารณูปโภค การจัดทำแผนที่ความแม่นยำสูง การสนับสนุนงานวิจัย การเกษตร การคมนาคมและขนส่ง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรและการจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น

ดาวน์โหลด เอกสารโครงข่ายสถานีอ้างอิง

งานอื่นๆ