ปี 2564 : โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน
24/02/2023
จากความท้าทายของสถานการณ์น้ำของประเทศ สสน. มุ่งสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และ พัฒนาต้นแบบความสำเร็จการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน สอดคล้องกับกรอบเป้าหมายการดำเนินงานระยะ 20 ปี (2560-2579) ของ สสน.
เชื่อมโยงกับการน้อมนำแนวพระราชดำริสู่การปฏิบัติ ที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับประเทศ ท้องถิ่น และชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มน้ำต้นทุน มีน้ำสำรองสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร สามารถวางแผนเพาะปลูก เพิ่มผลผลิต และรายได้ เป็นอีกแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงทรัพยากร และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริโดยชุมชนอย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดและขยายผลการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาให้ท้องที่ ท้องถิ่น และชุมชนสามารถจัดทำข้อมูลน้ำ แผนที่น้ำ มีข้อมูลแหล่งน้ำเชิงพื้นที่ สนับสนุนการปฏิบัติงาน บริหารจัดการ และวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม เกิดความมั่นคงด้านน้ำ ด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจชุมชน และด้านพลังงาน
การดำเนินงานสามารถขยายผลการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของแกนนำ 60 ชุมชน ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ และเครือข่ายหมู่บ้านรวม 1,816 หมู่บ้าน เกิดตัวอย่างเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ 1,471 ครัวเรือน พื้นที่ 4,205 ไร่ เกิดตัวอย่างไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ครอบคลุมพื้นที่ป่า 1.36 ล้านไร่ ลดรายจ่ายครัวเรือนได้เฉลี่ย 7 ล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 28 ล้านบาทต่อปี เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้ง 3,887 ล้านบาท ลดอุทกภัยและภัยแล้ง 3.82 ล้านไร่ ช่วยรัฐประหยัดค่าชดเชยมูลค่ากว่า 7,551 ล้านบาท
ชุมชนโนนแต้ ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เชื่อมโยงระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำ
ชุมชนบ้านโนนแต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองขาม อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ในลุ่มแม่น้ำชี มีลำน้ำสายหลักที่ไหลผ่านชุมชนคือลำน้ำก่ำ ลำน้ำแซง และลำห้วยยางหวาย มีพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ มีประชากร 360 ครัวเรือน มีพื้นที่เกษตร 2,500 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาข้าว ต่อมาเมื่อปี 2535 ได้เปลี่ยนพื้นที่นามาปลูกอ้อย แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง จึงทำให้เกษตรกรขาดทุนเป็นจำนวนมาก
ในปี 2554 ชุมชนโนนแต้ได้เข้าร่วมโครงการจัดการชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยชุมชนอย่างยั่งยืน 84 แห่ง บริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 จึงเริ่มวิเคราะห์ความเชื่อมโยงแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ ขุดคลองรอบหนองแซงเพื่อกันแนวเขต เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและกันแนวเขตได้ 245 ไร่ พัฒนาเป็นเกษตรตามแนวทฤษฏีใหม่แปลงรวม ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมจากครั้งพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ได้ นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ขยายผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำชุมชนและขยายผลไปยังชุมชนพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชน เกิดระบบบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
ตัวอย่างการดำเนินงาน
• บริหารจัดการน้ำด้วย “ระบบน้ำหมุนเวียน”
ชุมชนดำเนินงานระบบการใช้น้ำซ้ำด้วยขาแค ในแปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่แปลงรวมพื้นที่ 60 ไร่ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 80 ครัวเรือน เริ่มจากการใช้โซลาร์เซลล์สูบน้ำด้วยระบบท่อขึ้นสู่หอถังสูง ไม่มีการติดตั้งระบบลูกลอยเพื่อหยุดสูบน้ำเมื่อน้ำเต็มถัง น้ำที่ล้นถังจะผ่านท่อไปสู่ร่องน้ำที่อยู่รอบแปลงเกษตร หลังจากผันน้ำไปใช้ในแปลงและสระเลี้ยงปลาแล้ว น้ำส่วนที่เหลือจะไหลกลับไปยังหนองแซง หมุนเวียนในระบบ รอการนำกลับมาใช้ซ้ำอีกครั้ง ช่วยลดค่าน้ำมันและพลังงานจากการสูบน้ำ
• การจัดรูปที่ดิน “หนึ่งหัวนา หนึ่งป่าน้อย”
การจัดรูปที่ดิน “หนึ่งหัวนา หนึ่งป่าน้อย” ยกป่ามาไว้ในหัวไร่ปลายนา พื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่นา จำนวน 4 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ จำนวน 0.5 ไร่ สระน้ำ จำนวน 1 ไร่ พื้นที่ป่าน้อย จำนวน 1 ไร่ แปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จำนวน 1.5 ไร่ พันธุ์ไม้ในแปลง เช่น ไม้แดง ยางนา มะตูม สะเดา ผลผลิตในป่า เช่น เห็ด ผักหวานป่า ไข่มดแดง ผลิตภัณฑ์จากป่า เช่น ถ่าน เป็นต้น ผลผลิตที่ได้นำมารับประทานในครัวเรือน ส่วนที่เหลือนำไปขายให้กับชุมชน สร้างรายได้ตลอดปี ปัจจุบันขยายผลพื้นที่หนึ่งหัวนา หนึ่งป่าน้อย จำนวน 10 ครัวเรือน ควบคู่กับเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จำนวน 36 ครัวเรือน
• การติดตามสถานการณ์น้ำ “คิดใหญ่ ทำเล็ก”
ชุมชนเข้าร่วมติดตามสถานการณ์น้ำจากกลุ่มไลน์เครือข่ายน้ำชุมชน วางแผนเก็บน้ำชีในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึง เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ทำให้วางแผนเก็บน้ำได้เร็วกว่าเดิมและทันเวลาก่อนน้ำชีจะลด สามารถสูบน้ำชี มาเติมในลำน้ำก่ำ มีน้ำสำรองและกระจายเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่ายติดตามสถานการณ์น้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 11 หมู่บ้านในตำบลหนองขาม
สรุปความสำเร็จ
• เกิดกลุ่มเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ในตำบลหนองขาม จำนวน 36 ราย (ปี 2557-2563) สร้างรายได้ 1.84 ล้านบาทต่อปี ลดรายจ่าย 0.57 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มรายได้ 3,458,000 บาท ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม ถึง เมษายน) จากการบริหารจัดการน้ำ วิเคราะห์สมดุลน้ำ วางแผนการเพาะปลูก
• บริหารจัดการแหล่งน้ำ ด้วยการวางท่อลอดเก็บน้ำต้นทุนในพื้นที่ช่วยลดค่าสูบน้ำ เดิมปลูกข้าวเต็มพื้นที่ 21 ไร่ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำจากน้ำก่ำเข้าแปลงนาโดยไม่มีที่พักน้ำ ภายหลังจึงลดพื้นที่ปลูกข้าวลง เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนน้ำ และผันน้ำจากลำน้ำก่ำเข้าท่อลอดเก็บในสระพระราชทาน ช่วยประหยัดค่าสูบน้ำได้ 7,200 บาทต่อปี
• ฟื้นฟูหนองสาธารณะพร้อมกับพัฒนาโครงสร้างบริหารน้ำ ด้วยการขุดลอกกันแนวเขตหนองสาธารณะ พื้นที่ 25 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 37,800 ลูกบาศก์เมตร ผู้รับประโยชน์ 154 ครัวเรือน 1,326 คน พื้นที่เกษตร 600 ไร่ เกิดตัวอย่างทฤษฏีใหม่แปลงรวมในพื้นที่ 60 ไร่ มีสมาชิก 80 ครัวเรือน
• เชื่อมโยงเส้นทางน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการขุดลอกร่องน้ำเก่าเชื่อมน้ำจากแม่น้ำชี-ลำน้ำแซง-คลองน้อย-หนองน้ำขุ่น-หนองแซง-ลำน้ำก่ำ อย่างเป็นระบบ และติดตั้งประตูควบคุมระดับน้ำ เก็บน้ำต้นทุนเพื่ออุปโภค บริโภค และเกษตร มีแหล่งน้ำสำรองรวมกว่า 13.21 ล้านลูกบาศก์เมตร รองรับพื้นที่เกษตร 2,500 ไร่ มั่นคงน้ำใน 360 ครัวเรือน
• การติดตามสถานการณ์น้ำของชุมชน ช่วยให้สามารถชักน้ำจากลำน้ำชีเข้ามาเติมลำน้ำก่ำ (ระยะทาง 8,000 เมตร) ได้ทันเวลาก่อนน้ำชีลด ปริมาณน้ำกักเก็บ 2.85 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่เกษตร 2,500 ไร่ ผู้รับประโยชน์ 332 ครัวเรือน ประชากร 1,472 คน