ปี 2562 : โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำหริโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

16/03/2021

โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ โดยชุมชนอย่างยั่งยืน ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี (2560-2579) ของ สสน.

ภายใต้โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และฐานข้อมูล เพื่อการมีน้ำอย่างยั่งยืน (Sustainable Water) มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดและขยายผลการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาให้ท้องที่ ท้องถิ่น และชุมชนสามารถจัดทำข้อมูลน้ำ แผนที่น้ำ มีข้อมูลแหล่งน้ำเชิงพื้นที่ครบถ้วน

สามารถใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน บริหารจัดการ และวางแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เกิดความมั่นคงทางด้านน้ำ ด้านอาหารด้านเศรษฐกิจชุมชน และด้านพลังงาน

ผลจากการดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน มีตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนแกนนำจำนวน 60 ชุมชน ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ และเครือข่ายหมู่บ้านรวม 1,659 หมู่บ้าน โดยในปี 2562 สามารถขยายผลการดำเนินงานเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ 154 ครัวเรือน พื้นที่ 353.1 ไร่ และขยายผลด้วยตนเอง 554 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ชุมชนสามารถเพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งได้ 750 ครัวเรือน มีมูลค่าผลผลิต 13.50 ล้านบาท รวมทั้งสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ 24,764 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 82,886 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 4,207,074 ลูกบาศก์เมตร

โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำหริโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ตัวอย่างการดำเนินงานส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

ภาพชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ในอดีตและปัจจุบัน

สภาพพื้นที่เดิมของชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่สนามกอล์ฟร้างกว่า 3,500 ไร่ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ลุ่มน้ำย่อยเพชรบุรีตอนบน พื้นที่ชุมชน 3,568 ไร่ ประมาณ 238 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ สภาพดินมีลักษณะเป็นดินปนกรวด และลูกรัง จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เต็มศักยภาพ ประชาชนประสบปัญหาน้ำแล้งและหนี้สินจากเกษตรเชิงเดี่ยว

เรียนรู้ประยุกต์ใช้เครื่องมือ เพื่อวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเอง

ในปี 2559 ชุมชนได้ฟื้นฟูแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม เชื่อมโยงแหล่งน้ำ รวม 9 สระ และเสริมโครงสร้าง ทำให้สำรองน้ำได้เพิ่มขึ้นกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร

จัดทำระบบกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกผักปลอดสารพิษแบบกางมุ้งในโรงเรือน โดยใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากนี้เกษตรกรยังรวมกลุ่มสร้างโรงเรือนและห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาผลผลิตให้สดใหม่ พร้อมส่งให้กับร้านโกลเด้นเพลส เพื่อจำหน่ายต่อไป ชุมชนเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการน้ำ และลงมือปฏิบัติ ร่วมกัน วางแผนอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางการทำงาน ดังนี้

1)  สร้างต้นแบบระบบบริหารจัดการน้ำแบบสระพวง (สระใหญ่เติมสระเล็ก) โดยวางระบบท่อส่งน้ำ เพื่อกระจายน้ำจากสระ Area 7 (สระเก็บน้ำขนาดใหญ่) ไปยังสระเก็บน้ำขนาดเล็กโดยรอบ รวมระยะทาง 1,000 เมตร ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3.5 กิโลวัตต์ กระจายน้ำผ่านระบบท่อโดยตรง (เนื่องจากจุดสูบน้ำอยู่สูงกว่าสระเก็บน้ำทุกแปลง)  แทนที่การสูบน้ำขึ้นหอถังสูง ส่งผลให้อัตราการสูบน้ำเพิ่มขึ้นจาก 50 ลิตรต่อนาที เป็น 5,000 ลิตรต่อนาที ย้ายแผงโซล่าเซลล์ 20 แผง ที่ติดตั้งบนพื้นดิน ไปติดตั้งบนแพลอยน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงาน และเพิ่มคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ

แผนผังแสดงการบริหารจัดการน้ำแบบสระพวง

โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำหริโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

2)  สร้างระบบกระจายน้ำให้พืชแบบใช้น้ำน้อยในแปลงเกษตร จัดรูปที่ดิน จัดทำสมดุลน้ำในพื้นที่ วางแผนการบริหารน้ำ และการผลิต ติดตั้งระบบกระจายน้ำแบบมินิสปริงเกอร์และระบบน้ำหยดในแปลงสมาชิก ติดตั้งระบบกระจายน้ำในโรงเรือน

แผนผังการจัดรูปที่ดิน เพื่อดำเนินงานเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่

3)  สร้างอาคารบรรจุ และเก็บรักษาผลผลิตผัก ผลไม้ โดยภายในอาคารบรรจุ และเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย ห้องทำความสะอาด ตัดแต่งผลผลิต ห้องคัดแยกและบรรจุ ห้องเย็นเก็บรักษาผลผลิตที่ 0-10 องศา สามารถวางตะกร้าผักและผลไม้ ได้จำนวน 230 ตะกร้า

ผลการดำเนินงาน

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถบรรเทาความขาดแคลนจากภาวะภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง ให้กับชุมชน 238 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 3,568 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำสำรอง 150,000 ลูกบาศก์เมตร สร้างความมั่นคงในอาชีพ

เมื่อสาธารณูปโภคพร้อม มีหลักประกันและผลประกอบการรูปแบบกลุ่มที่เกษตรกรร่วมกันสร้าง สามารถต่อรองราคาในระบบตลาดกลางได้ เกิดกำไรจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ชุมชนจึงได้รับการพักชำระหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

ปัจจุบันชุมชนรวมกลุ่มการผลิต ภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนสหพันธ์เกษตรกรเพชรน้ำหนึ่ง” สมาชิก 22 ราย วางแผนการผลิตบนพื้นที่  900 ไร่ วางแผนขยายช่องทางการตลาด มีผลผลิต 11 รายการ ประกอบด้วย ชะอม กะเพรา ตำลึง ผักกูด มะละกอดิบ  พริกขี้หนูสวน  มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะเขือเทศ เชอรี่แดง และแตงกวา ส่งขาย บริษัทสุวรรณชาด จำกัด (โกลเด้น เพลซ) 3 สาขาในจังหวัดเพชรบุรี 4 สาขาในกรุงเทพมหานคร เกิดรายได้กับสมาชิกวิสาหกิจฯ ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

งานอื่นๆ