“อว. สสน. มช.” ขับเคลื่อนคลังสมองการจัดการน้ำ ตั้ง “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า” ภายใต้โครงการ “ธัชวิทย์”
26/10/2023
25 ตุลาคม 2566 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมประชาคมรับฟังความคิดเห็นขับเคลื่อนคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า อว. (ภาคเหนือตอนบน) ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาตราจารย์ ทพ. พิริยะ เชิดสถิรกุล กล่าวต้อนรับ
พร้อมวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ความสำคัญของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า อว. (ภาคเหนือตอนบน) สำหรับบริหารจัดการน้ำในทุกระดับและร่วมสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน” โดย รองศาสตราจารย์ ชูโชคหัวข้อ “การจัดการน้ำชุมชนสู่ความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำและ การจัดการน้ำของประเทศ” โดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชล ผลารักษ์
พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้าฯ ที่ตอบโจทย์และสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากสำนักปลัดกระทรวงฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1 ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้แทนเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โขงเหนือ และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โครงการ “ธัชวิทย์” ที่จะผลักดันให้เกิด “คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า อว. (ภาคเหนือตอนบน)” นำร่องเป็นคลังสมองด้านการบริหารจัดการน้ำในระดับภาคแห่งแรกของประเทศไทย ให้เป็นเสมือนศูนย์กลางคลังข้อมูลด้านวิชาการเพื่อการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่มีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูล และร่วมกันวิเคราะห์ พัฒนาข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เหมาะต่อการประยุกต์ใช้งานจริงในพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต เกิดการจัดการน้ำร่วมกันแบบองค์รวมทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคประชาชน
โดยนำร่องจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ จังหวัดลำปาง จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อยอดเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นครอบคลุมทั่วประเทศเกิดผลสำเร็จด้านการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืนตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อันจะนำไปสู่การสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชุมชนในทุกมิติอย่างยั่งยืนสืบไป