ระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (GOT001)

18/03/2024

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. และ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร เก็บรวมและสร้างฐานข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการศึกษาและพัฒนาแบบจำลอง รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์

รูปแสดงระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (GOT001) บริเวณสถานีวิจัยประมงศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร หรือ GOT001 ประกอบด้วย

เครื่องตรวจวัดทางสมุทรศาสตร์ เครื่องบันทึกข้อมูลและส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และได้ดำเนินการติดตั้งต้นแบบระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร บริเวณสถานีวิจัยประมงศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระบบนี้ ติดตั้งที่ระดับน้ำลึกประมาณ 6-7 เมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร

ระบบตรวจวัดทำงานแบบ Real-time ด้วยความถี่ทุกๆ 20 นาที และส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย cellular 3G/4G ทุกๆ 1 ชั่วโมง ระบบจะทำการบันทึกข้อมูลดิบ (Raw Data) เก็บไว้ในตัว Datalogger ซึ่งทำงานโดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่และระบบ Solar cell

องค์ประกอบของสถานีแบ่งเป็น 3 ส่วนประกอบหลัก ดังนี้

1) โครงสร้างสถานีและโครงสร้างใต้น้ำ
2) ชุดอุปกรณ์ตรวจวัด และ
3) กล่องกันน้ำบรรจุแผงวงจรควบคุมอุปกรณ์ตรวจวัดและการรับส่งข้อมูลและให้พลังงาน

รูปแสดงส่วนประกอบหลักต่างๆของระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (GOT001)

ข้อมูลตรวจวัดประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

1) ข้อมูลสมุทรศาสตร์ ประกอบด้วย อุณหภูมิน้ำทะเล ความเค็ม ความนำไฟฟ้า ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ความอิ่มตัวออกซิเจนละลายน้ำ ความเข้มข้นคลอโรฟิลล์ เอ ความขุ่น ระดับน้ำ ความสูงคลื่นนัยสำคัญ ความสูงคลื่นสูงสุด คาบคลื่น และ ความเร็วกระแสน้ำ

2) ข้อมูลสภาพอากาศ ประกอบด้วย อุณหภูมิอากาศ ความเข้มฝน ความชื้นสัมพัทธ์ ความกดอากาศ อุณหภูมิจุดน้ำค้าง ความเร็วลม และ ความเข้มแสงอาทิตย์ ข้อมูลต่างๆ แสดงผลผ่านทางหน้าเว็บไซต์

รูปแสดงผลข้อมูลตรวจวัดจากระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (GOT001)

รูปแสดงกราฟข้อมูลของระบบตรวจวัดทางทะเลแบบโทรมาตร (GOT001)

งานอื่นๆ