มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ลงนาม MoU “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ระยะที่ 2”

04/09/2024

วันที่ 3 กันยายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ลงนาม “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ระยะที่ 2” ณ ห้องศรีจุลทรัพย์ 1 ชั้น 10 อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ

ร่วมกับภาคีเครือข่าย 10 หน่วยงาน เพื่อสานต่อโครงการอันเนื่องมาจากพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตลอดจนเพื่อร่วมกันสืบสานพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านการนำระบบเทคโนโลยีโทรมาตรอัตโนมัติมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติของประเทศ

มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ระยะที่ 1” ร่วมกับสำนักงาน กสทช. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 510 สถานี

โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในมิติด้านกฎหมาย งบประมาณ การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์ และการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำในชุมชนและการป้องกันความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

การดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ไปแล้วจำนวน 242 สถานี ข้อมูลที่ได้รับเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายระบบโทรคมนาคมไปยังคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ thaiwater.net และ แอปพลิเคชัน Thai Water เผยแพร่สู่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลฝนตกหนัก ผ่านแอปพลิเคชัน LINE ให้หน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันภัย และการเตือนภัยในระดับชุมชน โดยมูลนิธิ ฯได้ร่วมกับ สสน. จัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ขึ้น ทั้งหมด 19 ชุมชน ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยได้ฝึกอบรมอาสาสมัครในชุมชนที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อการเฝ้าระวัง การเตือนภัย และการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งให้การสนับสนุนวิทยุสื่อสารแก่เครือข่ายเตือนภัยพิบัติชุมชนเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และเห็นผลการดำเนินงานเป็นรูปธรรมชัดเจน

ดังนั้น เพื่อให้การติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ในส่วนที่เหลือแล้วเสร็จตามความมุ่งหมายของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มูลนิธิ ฯ จึงได้ประชุมร่วมกับ 7 หน่วยงานภาคีเครือข่ายเดิม ได้แก่ สำนักงาน กสทช. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และอีก 3 หน่วยงานใหม่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ กองทัพบก เพื่อตกลงถึงการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ระยะที่ 2” ซึ่งทุกหน่วยงานภาคีได้เห็นพ้องถึงความสำคัญในการดำเนินการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้บรรลุตามความมุ่งหมาย จำนวน 510 สถานี เพื่อส่งข้อมูลผ่านระบบโทรคมนาคมไปใช้ในการเฝ้าระวังและเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ และได้บรรลุความตกลงที่จะลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระยะที่ 2 ร่วมกันในวันนี้

โดยพิธีลงนามในการบูรณาการความร่วมมือในการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ ฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้บรรลุตามความมุ่งหมาย จำนวน 510 สถานี ได้รับเกียรติจากตัวแทนหน่วยงานภาคี 10 หน่วยงาน เข้าร่วมพิธีลงนาม นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ / นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ / พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก ผู้แทน ผู้บัญชาการทหารบก / นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / นายสุรชัย อัจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ / นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง / นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย / นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น / นายชาติชาย ภุมรินทร์ รองผู้ว่าการภาคกลางและใต้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้แทนผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ นางรอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมลงนามในพิธี

ทั้งนี้ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตระหนักดีว่าอุทกภัยเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างยั่งยืนประการหนึ่งก็คือ การเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิดภัย ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของมูลนิธิ ฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยสามารถเตรียมความพร้อม และรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเกิดอุทกภัยซ้ำซ้อน มูลนิธิ ฯ เป็นองค์กรการกุศลที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยแบบครบวงจรและยั่งยืน โดยเน้นการเชื่อมโยง สนับสนุน ร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นตัวอย่างของโลกในการบรรเทาทุกข์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวอื่นๆ